ตามที่มีข้อกังวลประเด็นการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) กรณีกฎหมายวิชาชีพ ยกตัวอย่าง งานทันตกรรมที่เดิมจะมีทันตาภิบาลเป็นผู้ดูแลรักษาเบื้องต้น เป็นผู้ให้บริการทันตกรรมในพื้นที่ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน ซึ่งเมื่ออยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะเป็นการปฏิบัติงานภายใต้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำหน้าที่รับรองการภารกิจต่างๆ แต่เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ การรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมภายใต้กระทรวงสาธารณสุขย่อมหายไป หมายความว่า เมื่อไปอยู่อบจ. ทางท้องถิ่นต้องจัดหาทันตแพทย์มาให้การรับรอง ควมคุมดูแลเนื่องจากเป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
ปัญหาคือ หลายพื้นที่มีทันตแพทย์รองรับตรงนี้ แต่อีกหลายพื้นที่ไม่มีทันตแพทย์มาให้การรับรอง ดังนั้น ทันตาภิบาลก็ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจงานทันตกรรมได้ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ได้ ส่งผลให้ประชาชนกระทบ ต่อการให้บริการขั้นพื้นฐาน ในพื้นที่ที่ต้องการ อุดฟัน ขูดหินปูน ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและเกิดภาพการรอคิว การแย่งบัตรคิว และความแออัดอีกครั้ง ขณะที่การบริการปฐมภูมิก็ขาดช่วงไป
จากปัญหาดังกล่าวเกิดคำถามในพื้นที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร ยิ่งเข้าใกล้การถ่ายโอนภารกิจอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2566 จะมีการเตรียมพร้อมรองรับอย่างไรได้บ้าง
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายศักดิ์สิทธิ์ ชำนาญงาน ในฐานะผู้ประสานงานชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่มีการถ่ายโอนภารกิจไปท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าช่วงแรกอาจยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่พื้นที่ให้การช่วยเหลือ ขณะนี้รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังทำงานประสานกัน แต่ปัญหาการปฏิบัติงาน ของเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2539 และ 2559 ที่ระบุให้ทันตาภิบาลสามารถทำฟันได้ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ ซึ่งระบบเดิมจะเป็นทันตแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนที่จะเป็นผู้ควบคุมดูแลทันตาภิบาล นั้น
ปัญหาการถ่ายโอนทันตาภิบาลใน รพ.สต. ไป อบจ.
หลายจังหวัด อย่างสุพรรณบุรี ขอนแก่น ฯลฯ บริหารจัดการด้วยการจ้างทันตแพทย์ไว้ก่อนแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ถ่ายโอนไปแล้วก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้สำเร็จ จึงเกิดผลกระทบต่อการบริการช่องปากของประชาชนทำให้ผู้ป่วยไปรับบริการและแออัดที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม ซึ่ง "ปัญหาการถ่ายโอนทันตาภิบาล" นั้น บุคคลากรเองก็ไม่กล้าที่จะทำหัตถการเพราะยังกังวล เงื่อนไขที่ว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องมาทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของทันตาภิบาลใน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพด้วย
“ปัญหาตรงนี้ส่วนตัวมองว่า ควรต้องมีการหารือในพื้นที่ อาจเป็นการทำ MOU ร่วมกับระหว่างสธ.และท้องถิ่นก่อน จากนั้นอบจ.ก็ต้องพร้อมในการจัดหาผู้ประกอบวิชาชีพมารองรับ”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหลักสูตรวิชาชีพทันตแพทย์ เนื่องจากทุกวันนี้นักวิชาการสาธารณสุขที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข จะมีวงเล็บท้าย ซึ่งเป็นไปตามความชำนาญจากหลักสูตรที่เรียน คือ "นักวิชาการธารณสุข(ทันตสาธารณสุข)" แต่เมื่อถ่ายโอนไปแล้ววงเล็บจะหายไปไม่สามารถทำหัตถการได้ทำได้แค่มอบหมายงานและไม่มีทันตแพทย์มาควบคุมการทำงาน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้กลุ่มวิชาชีพ “ทันตาภิบาล” ที่ถ่ายโอนไปแล้วอยากขอกลับ รวมถึงบุคลากรเหล่านี้ไม่สามารถให้บริการทันตกรรมได้ จะทำให้บริการสุขภาพด้านทันตกรรมหายไปและประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อีกด้วย
เสนอการเปิดหลักสูตรวิชาเฉพาะทันตกรรม
นายศักดิ์สิทธิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีนักวิชาการสาธารณสุข(ทันตาภิบาล) ที่สอบจนได้ใบประกอบวิชาชีพ ตามพ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1,000 คนที่ถ่ายโอนภารกิจไปท้องถิ่นแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นว่าเมื่อไปท้องถิ่นจะไม่สามารถทำทันตกรรมได้ เนื่องจากท้องถิ่นให้ตำแหน่งแค่นักวิชาการ ไม่มีวงเล็บทันตสาธารณสุขและแม้ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งจาก “นักวิชาการสาธารณสุข” เป็น “นักสาธารณสุข” ก็จะยังไม่มีพ่วงท้ายว่าสามารถทำทันตกรรมได้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะได้เรียนและได้ปฏิบัติภารกิจให้บริการประชาชนมานาน แต่กลับไม่ได้ใช้อีก
“ปัญหาเรื่องนี้ สมาคมทันตาภิบาล เคยทำเรื่องมาที่ สธ. ขอให้มีการเปิดหลักสูตรวิชาเฉพาะทันตกรรม ให้นักสาธารณสุขที่มีคุณวุฒิด้านทำฟันมาก่อนแล้ว เราจะนำบุคลากรเหล่านี้มาอบรมเพิ่มเติม ให้มีคุณสมบัติและสามารถส่งเสริมทันตกรรมได้ สำหรับ 1,000 คนที่ถ่ายโอนไปแล้วยังสามารถขึ้นตำแหน่งใหม่เป็นนักสาธารณสุขได้ และถ้ามีการอบรมตามหลักสูตรดังกล่าว จะสามารถทำทันตกรรมได้เหมือนเดิม ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการหารือร่วมกันกับทางสภาการสาธารณสุขชุมชน และทางทันตแพทยสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร”
นายศักดิ์สิทธิ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน “ทันตาภิบาล” ยังเป็นสายงานที่ขาดแคลนและหายาก ทั่วประเทศมีประมาณ 7,000 คน ซึ่งถ่ายโอนไปในรอบแรกและมีใบประกอบวิชาชีพประมาณ 1,000 คน มองว่า"การถ่ายโอนในรอบต่อไปต้องมีความพร้อมกว่านี้ ไม่ใช่แค่อยากได้แต่คนไป การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ต่างๆต้องพร้อม เพราะคนที่โอนไปแล้วอยากถ่ายโอนกลับนั้น ก็เพราะการทำงานไม่เหมือนเดิม ไม่มีความมั่นใจในระบบใหม่ ทั้งนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้กับสายงานนี้
ด้านนางสมบูรณ์ ศิลากุล นายกสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มองว่าในวิชาชีพทันตาภิบาลการที่เราจะทำงานในด้านการบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน จะต้องมีบทบาทที่ชัดเจน มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เฉพาะในเรื่องทันตกรรม แต่อยู่ภายใต้ของนักวิชาการสาธารณสุข เนื่องจากมีบุคลากร ทันตาภิบาล ที่ถ่ายโอนไปแล้วและมีใบประกอบวิชาชีพประมาณเกือบ 1,000 คน ถ้าหากบุคลากรเหล่านี้ไม่สามารถให้บริการทันตกรรมได้ จะทำให้ระบบบริการสุขภาพด้านทันตกรรมหายไปด้วย ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์ และไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ รวมทั้งการเข้าถึงบริการของประชาชนจะลดน้อยลง
ในมุมมองเครือข่ายปฐมภูมิคิดว่า ถ้าหากทันตาภิบาลได้เปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นนักสาธารณสุข แต่ยังทำงานบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานได้ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริม ป้องกัน รักษา ที่อยู่ภายใต้การทำงานในระเบียบที่ชัดเจนและทำได้ตามใบประกอบวิชาชีพของตนเอง จึงคิดว่าถ้าจะทำเรื่องหลักสูตรเฉพาะด้านทันตกรรมในกลุ่มของทันตาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่ถ่ายโอนหรืออยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะเราทำงานภายใต้ระเบียบปี 39 และ 59 และยังมีทันตแพทย์พี่เลี้ยงที่อยู่ใน สธ. อยู่แล้ว
แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ ในส่วนท้องถิ่นที่บุคลากรทันตาภิบาลถ่ายโอนไปแล้วยังไม่มีทันตแพทย์ดูแลที่ชัดเจน เพียงแค่มีการ MOU ร่วมกันแค่นั้น มองว่าถ้าเรามีวิชาชีพที่อยู่ภายใต้สภาการสาธารณสุขอยู่ในตำแหน่งของนักสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้น และมีหลักสูตรเฉพาะที่เป็นเรื่องของทันตกรรม จะทำให้เราสามารถให้บริการประชาชนให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีได้ สำหรับหลักสูตรที่จะเกิดขึ้น หากทีมทันตแพทยสภาและสภาการสาธารณสุข สามารถทำงานร่วมกันได้ จะถือว่าเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพที่สุด นางสมบูรณ์ กล่าว.
- 1389 views