ปลัดสธ. เผยอบจ.หลายแห่งตอบกลับพร้อมรับถ่ายโอนรอบ ต.ค. 66 แต่ยังมีหลายแห่งไม่พร้อมต้องหารือร่วมกัน เหตุมีเรื่องกฎหมายวิชาชีพเกี่ยวข้อง อย่างทันตาภิบาลต้องทำงานภายใต้ทันตแพทย์ ขณะเดียวกันต้องเคลียร์กรณีกรมบัญชีกลาง ระบุสธ.ไม่สามารถนำงบจัดซื้อยาใช้จ่ายข้ามกระทรวง ส่วนแนวทางช่วยเหลือคนถ่ายโอนขอย้ายกลับนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขให้ตรงกันทั้งสองฝั่ง
กลายเป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ให้ไปอยู่กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่หลายแห่งมีความพร้อม เมื่อรับรพ.สต.ถ่ายโอนมาย่อมไม่มีปัญหา แต่อีกหลายแห่งก็ยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกอบวิชาชีพ
ยกตัวอย่าง จากเดิมเมื่ออยู่ในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปลัดกระทรวงฯ มอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ดูแลเรื่องการประกอบวิชาชีพ จึงทำให้บุคลากรในรพ.สต. เช่น ทันตาภิบาล สามารถทำหัตถการโดยมีกระทรวงสาธารณสุขรับรอง แต่หาก อบจ. ยังไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพมารองรับ เช่น ยังไม่จัดจ้างทันตแพทย์มารองรับในพื้นที่นั้นๆ ย่อมส่งผลต่อการทำงานของทันตาภิบาล เนื่องจากตามกฎหมายทันตาภิบาล ต้องปฏิบัติงานภายใต้ทันตแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อย่างล่าสุดบุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วต้องการกลับมาอีกราว 400 คน ขณะที่การถ่ายโอนรอบใหม่เบื้องต้นแจ้งว่า เปลี่ยนใจอีกราว 100 คน โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯรับทราบเรื่องนี้แล้ว
สธ.สอบถามอบจ.หลายแห่งพร้อมรับถ่ายโอน ส่วนพื้นที่ที่ไม่พร้อมต้องหารือร่วมกัน
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต.ไปยังอบจ.รอบใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯ ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อสอบถามไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) แต่ละแห่ง ถึงความพร้อมในการรับถ่ายโอน ซึ่งหลายแห่งตอบกลับมาว่าพร้อมแล้ว ทางกระทรวงฯก็ปล่อยดำเนินการ แต่ตรงไหนยังไม่พร้อม กระทรวงฯ ยังพร้อมสนับสนุน เพียงแต่จะเกิดข้อห่วงใยเรื่องกฎหมาย เช่น บางครั้งส่งทันตแพทย์ไปปฏิบัติงานร่วมกันก็เกิดคำถามจากทันตแพทย์ว่า หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา จะเป็นส่วนไหนรับผิดชอบ ซึ่งยังมีเรื่องกฎหมายที่ต้องมาหารือร่วมกันให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไร
ยังต้องหารือประเด็นกรมบัญชีกลางระบุสธ.ไม่สามารถนำงบจัดซื้อยาใช้จ่ายข้ามภารกิจกระทรวง
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า หากเกิดประเด็นกฎหมาย สมมติเกิดการฟ้องร้องในอนาคต ต้องมีความชัดเจนว่า ใครจะรับผิดชอบ รวมถึงบางเรื่องได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง สมมติว่า กรณีกระทรวงสาธารณสุขนำงบประมาณการจัดซื้อยาไปให้ที่ถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว มีระเบียบรองรับหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย จึงต้องหารือเรื่องข้อกฎหมายให้ชัดเจนเช่นกัน
“ผมเชื่อว่าการถ่ายโอน เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีความพร้อมหลายเรื่อง อย่างกฎหมายมีหลายฉบับ และไม่ใช่กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลเอง เช่นงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเบิกจ่าย ระเบียบเงินบำรุง อบต. เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้” ปลัดสธ.กล่าว
สธ.ยันสนับสนุนถ่ายโอน แต่ต้องพร้อมจริงๆ ทั้งกำลังคน งบประมาณ และมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าจะมีการถ่ายโอนรพ.สต.อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2566 นี้ การหารือเพื่อขจัดอุปสรรคที่กังวลต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำจะทันหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า มีการหารือร่วมกันตลอด ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับการถ่ายโอนภารกิจ แต่ทุกอย่างต้องมีความพร้อมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 1.กำลังคน เพราะหลายแห่งหากไปสอบถามก็ยังมีทั้งอยากถ่ายโอน และไม่อยากถ่ายโอน ทั้งหมดขึ้นกับการแสดงเจตจำนง ซึ่งหลักเกณฑ์ คือ มีคุณสมบัติพอ เจ้าตัวต้องยินยอมพร้อมใจไป มีการลงหนังสืออย่างเป็นทางการก็ต้องให้เขาไปตามกฎเกณฑ์ 2.งบประมาณ จะมีหลายส่วน ทั้งจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จากสำนักงบประมาณ ตรงนี้อยู่นอกการรับผิดชอบกระทรวงสาธารณสุข ก็จะเป็นการดำเนินการของสปสช.และสำนักงบฯ กับทางหน่วยที่รับถ่ายโอนไป
3.ข้อกฎหมายมีหลายฉบับ ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับสธ. ซึ่งจริงๆ กระทรวงสาธารณสุข ยินดีกับการถ่ายโอน เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือสธ.จะดำเนินการได้ แต่หน่วยไหนต้องการให้เราไปช่วย เราก็ยินดี ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายจังหวัดให้เราช่วยอยู่ แต่อีกหลายแห่งแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า ไม่ต้องมาช่วยแล้ว เราก็ต้องถอนตัวออกมา
กำลังรวบรวมตัวเลขให้ตรงกันทั้งสธ.และท้องถิ่น กรณีบุคลากรถ่ายโอนขอกลับสธ.
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแนวทางช่วยเหลือบุคลากรที่ถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว แต่ต้องการกลับมากระทรวงฯ เบื้องต้นมีประมาณ 400 คน นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องรวบรวมรายชื่อ และเสนอให้ทางคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ รับทราบ เบื้องต้นมีจำนวนไม่น้อย เมื่อถามเหตุผลก็อย่างที่เคยให้ข้อมูลกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นก่อนไปได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ทราบว่าไปแล้วกลับมากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ ซึ่งก็มีหลายปัจจัย
เมื่อถามอีกว่ากรณีการช่วยเหลือบุคลากรที่เปลี่ยนใจไม่ถ่ายโอนรอบใหม่อีกประมาณ 100 คน จะช่วยได้เลยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า หากยังไม่มีการถ่ายโอน หรือทำข้อตกลงอะไรก็ต้องนำตัวเลขทั้งฝั่งสธ.และท้องถิ่นมาดูกันว่า ตัวเลขเป็นอย่างไร ซึ่งกำลังหารือประเด็นนี้เช่นกัน
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขในพื้นที่ ให้ข้อมูล Hfocus เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีประเด็นข้อกังวล หลายพื้นที่กลัวกันไปหมด บางแห่งไม่กล้าพูดเห็นต่างเรื่องการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต.ไปท้องถิ่น ขณะที่บุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วก็ไม่กล้าออกตัวว่า ต้องการกลับมากระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน ซึ่งมีหลายปัจจัย ปัญหาคือ ขณะนี้ตัวเลขบุคลากรที่ต้องการจะกลับมามีเท่าไหร่ อีกปัญหาคือ รายชื่อที่จะถ่ายโอนปี 2567 ซ้ำกับรายชื่อที่ถ่ายโอนไปแล้วในปี 2566 ทั้งหมดตัวเลขต้องตรงกันก่อน ซึ่งก็ต้องมารอดูการประชุมคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ครั้งหน้าว่า จะเป็นอย่างไร
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1922 views