นายกทันตแพทยสภา เผย กรณีสธ.ทำหนังสือถึงนายแพทย์ สสจ.ทุกจังหวัด เรื่องสนับสนุน“ทันตแพทย์” จากโรงพยาบาลไปยัง รพ.สต. เพื่อดูแลการทำงานของ “ทันตาภิบาล” ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สามารถทำให้รอยต่อในการทำงานสะดุดน้อยที่สุดในช่วงนี้ ชี้บุคลากรมีพร้อมจะทำงาน “ปฐมภูมิ” ที่รพ.สต. แน่นอน  

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. ลงนามในหนังสือที่ สธ. 0207.05/ ว 6252 เรื่อง “การให้บริการสุขภาพช่องปากสำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขที่ถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด” โดยขอให้ สสจ.​ ดำเนินการใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. แจ้งโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดให้การสนับสนุนทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุ และเครื่องมือ เพื่อจัดบริการส่งเสริมป้องกันทางสุขภาพช่องปาก และการรักษาทางทันตกรรมในสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ตามที่ อบจ. ขอความอนุเคราะห์ในระยะเปลี่ยนผ่าน

2. สำหรับจังหวัดที่ไม่มีทันตแพทย์ปฏิบัติงานในสังกัด อบจ. ให้แจ้ง อบจ. หรือคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เร่งดำเนินการจัดจ้าง หรือจัดหาผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของทันตาภิบาล ในสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ตามความเห็นของกองกฎหมาย สธ.

ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญเรื่องการสนับสนุน “ทันตแพทย์” จากโรงพยาบาลไปยัง รพ.สต. เพื่อดูแลการทำงานของ “ทันตาภิบาล” จะเป็นอย่างไรนั้น

 

จากกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยกับ Hfocus ว่า มองว่าการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำหนังสือให้ "ทันตแพทย์" จากโรงพยาบาลไปช่วยดูแลการทำงานของ “ทันตาภิบาล” ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้รอยต่อสะดุดน้อยที่สุด เพราะการทำงานยังค่อนข้างเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่างนั้นอาจจะมีในหลายๆเรื่อง เช่น ผู้บังคับบัญชา ,บุคลากร,ค่าตอบแทน ฯลฯ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีรอยต่อสะดุดมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำให้รอยต่อในการทำงานสะดุดน้อยที่สุดในช่วงนี้

*******เมื่อถามว่า อบจ.จำเป็นต้องจ้างทันตแพทย์เองใช่หรือไม่ ผศ.ดร.ทพ.สุชิต กล่าวว่า จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ตอนนี้เบื้องต้น 3 ปี กระทรวงสาธารณสุขยังคงดูแลอยู่ ซึ่งหลังจาก 3 ปีต้องดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป 

ผศ.ดร.ทพ.สุชิต กล่าวว่า ส่วนต้องจ้างเองหรือไม่นั้น อบจ.อาจจะต้องหาวิธีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ต้องหาทางแก้ไขต่อไป เพื่อทำให้ระบบบริการดูแลสุขภาพของประชาชนให้เกิดการสะดุดน้อยที่สุด  ซึ่งเรื่องนี้ ทางทันตแพทยสภากับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีการปรึกษาพูดคุยกันและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เบื้องต้น จึงเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกคำสั่งให้”ทันตแพทย์” ไปช่วยดูแล “ทันตาภิบาล” ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก่อน 

*******สำหรับการทำงานของ ทันตแพทย์ ในโรงพยาบาล กับ รพ.สต. ต่างกันหรือไม่ บุคลากรมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน

ผศ.ดร.ทพ.สุชิต กล่าวว่า ในเรื่องเชิงเทคนิคการรักษา (treatment) ในช่องปาก ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ต่างกันที่มิติในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม การออกไปทำงานในระบบปฐมภูมิจะทำให้ทันตแพทย์ได้เข้าไปเห็นบริบทชีวิตและเข้าใจอุปสรรคในฝั่งผู้ป่วยได้ดีขึ้น และเมื่อมีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างใกล้ชิด ก็จะเกิดการดูแลที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศในปัจจุบัน 

ส่วนทันตแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลยังคงมีภาระงานในเรื่อง “ทุติยภูมิ” ไม่ใช่ “ปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นการทำงานเชิงคลินิกที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น ต้องการความเชี่ยวชาญในการทำงานและความพร้อมของเครื่องมือเฉพาะด้านในการให้บริการ เช่น เรื่องมะเร็งช่องปาก การรักษารากฟัน รวมถึงการจัดฟัน ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีภาระงานอีกมากที่ยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการเช่นกัน เพื่อให้พร้อมเป็นจุดรับส่งต่อผู้ป่วยจากระบบปฐมภูมิ ให้เกิดคุณภาพการดูแลประชาชนได้ดีขึ้น 

สุดท้ายนี้ เรื่องบุคลากร ในส่วนของกลุ่ม“ปฐมภูมิ” 
บุคลากรที่มีตัวตนอยู่แล้วนั้น กระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) ได้เตรียมการโดยสถาบันทันตกรรมมีการจัดฝึกอบรมให้ทันตแพทย์มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานในทีมปฐมภูมิมากขึ้น เช่น การทำงานร่วมกับทีมสหาสาขาวิชาชีพในการดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การออกแบบการดูแลสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมกับบริบทผู้ป่วยแต่ละราย ฯลฯ สำหรับบุคลากรที่ผลิตใหม่ มหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มมีการปรับหลักสูตรให้เด็กมีความรู้ในเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน  เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วง ทั้งบุคลากรที่มีอยู่แล้ว หรือ บุคลากรที่ผลิตใหม่  เราเชื่อว่าเรื่องความพร้อมบุคลากรค่อนข้างดี

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง หนึ่งในทันตาภิบาล เห็นด้วย สธ. จัด “ทันตแพทย์” ช่วยดูแลการปฏิบัติงานของ “ทันตาภิบาล” ถ่ายโอนไปอบจ.ช่วงเปลี่ยนผ่าน