มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทยรองจากมะเร็วเต้านม ถึงแม้ว่าจะสามารถรักษาได้ถึว 80 % แต่ผู้หญิงส่วนมากกลับกังวลในการีเข้ารับการตรวจ ด้วยความอายแพทย์ กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ ซึ่งปัญหานี้จะหมดไปเมื่อมีนวัตกรรมให้ผู้หญิงสามารถเลือกเก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเอง
เวทีเสวนา “ผู้หญิงต้องรู้! ทางเลือกใหม่ ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ไม่ต้องขึ้นหยั่ง” จัดโดยบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ชวนผู้หญิงไทยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยนวัตกรรมใหม่ มีความสะดวกสบาย ไม่ต้องอายหมด ไม่ต้องกลัวเจ็บ ที่สำคัญให้ผลแม่นยำ เพื่อป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ โดยสามารถใช้บริการได้ทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในอดีตมะเร็งปากมดลูกพบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย แต่เมื่อ 18 ปีที่แล้วหลังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บรรจุสิทธิประโยชน์ให้มีการตรวจคัดกรองฟรีในสตรีอายุ 30-60 ปีและมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 5 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการตรวจพบในอัตราที่สูงอยู่ประมาณ 11.1 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทุกประเทศในโลกลดอุบัติการณ์ให้เหลือ 4 ต่อประชากร 1 แสนคน จึงต้องมีการทำงานกันอย่างจริงจังเพื่อให้ต่ำกว่า 4 หรือไม่ให้เกิดขึ้นเลย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในส่วนของกลุ่มที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่คือ การตรวจพบในระยะ 3 และ 4 ซึ่งเป็นระยะเสี่ยงแล้ว เนื่องจากหลายคนอาจมีความเขินอายต่อหมอ กลัวเจ็บกับความวิธีการตรวจแบบดั้งเดิมที่ต้องขึ้นขาหยั่งและต้องใช้อุปกรณ์สอดใส่ในช่องคลอด ทำให้เกิดความกังวล บวกกับช่วงโควิดที่ผ่านมา บุคลากรทางแพทย์บางส่วนต้องเปลี่ยนบทบาทไปทุ่มกับโควิดส่งผลให้การตรวจคัดกรองลดลง ทำให้มีการตรวจเจอในระยะท้ายๆ สูงขึ้นใกล้เคียงกับช่วง 18-20 ปีที่แล้ว ซึ่งนพ.ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี มองว่า การตรวจแบบ HPV DNA ด้วยตัวเองจะเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกสำหรับผู้หญิงในปัจจุบัน
“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การตรวจลักษณะของเซลล์แบบ PAP SMEAR ที่เป็นวิธีดั้งเดิม และการตรวจแบบ HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยตรง โดยมีความไวในการตรวจพบถึง 90-95% ขณะที่การตรวจแบบเดิมอยู่ 50-55% ซึ่งวิธีการตรวจเชื้อเอชพีวีนี้ สามารถทำได้ 2 วิธี คือขึ้นขาหยั่งให้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจ กับรูปแบบใหม่ที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง คล้ายกับ ATK ที่ทุกคนคุ้นเคยกันแล้ว” นพ.ปิยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้อุปกรณ์การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองจะมีไม้สำหรับการเก็บตัวอย่างในช่องคลอดคล้ายกับไม้แหย่จมูกของ ATK เพียงแต่ไม่สามารถตรวจเชื้อได้ทันที แต่ต้องเก็บใส่กล่องแล้วส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปตรวจในแล็บ โดยช่วงเวลาที่ทำการตรวจต้องมีสุขภาพดีไม่มีอาการปวดท้องน้อย หรือต้องหลังมีประจำเดือนอย่างน้อย 7 วัน
นพ.ปิยวัฒน์ เผยว่า หลังการตรวจแล้วหากไม่พบเชื้อ อีก 5 ปีค่อยตรวจใหม่อีกครั้ง แต่หากตรวจพบเชื้อไวรัส HPV สายพันธ์ก่อมะเร็งที่มีความเสี่ยง (สายพันธ์ 16, 18) จะส่งต่อให้สูตินารีแพทย์ตรวจด้วยการส่องกล้องปากมดลูกต่อไป หรือหากพบเชื้อสายพันธ์ก่อมะเร็งที่ไม่มีความเสี่ยง จะตรวจเซลล์วิทยาต่อ หากพบความผิดปกติจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปแต่หากไม่พบความผิดปกติจะติดตามอาการอีกครั้งในปีถัดไป ซึ่งจะทำให้รักษาได้อย่างรวดเร็ว
(นพ.ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์)
ขณะที่ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันสตรีไทยสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิทั่วประเทศหากมีอายุครบ 30 ปี ผ่านการใช้บริการโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยเลือกเมนู“กระเป๋าสุขภาพ” และเมนู บริการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเช็คสิทธิประโยชน์ที่คุณได้รับ สำหรับในพื้นที่ กรุงเทพฯ สามารถจองคิวนัดหมายเพื่อรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ หากตรวจพบก็สามารถรักษาได้ตามสิทธิที่มี
(ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ)
“มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ รักษาให้หายได้หากตรวจเจอตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงมีความสำคัญ อยากให้ทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์เข้าร่วมการตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพราะอย่างที่รองเลขาฯสปสช.บอกสามารถใช้สิทธิฟรี และขอย้ำอีกครั้งว่าการตรวจแบบ HPV DNA มีประสิทธิภาพความแม่นยำ และด้วยเทคนิคใหม่มีความสะดวกสบาย ลดความเขินอาย ความเจ็บได้ ไม่มีอะไรต้องกังวล” นพ.ปิยวัฒน์ ทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ สปสช. และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
- 18616 views