เปิดข้อมูลเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงวัย ห่วงสถานการณ์ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดลง ชี้ปี 64 ผู้สูงอายุ 60 ปี มี 1.4 ล้านคน คาดปี 2583 พุ่งสูง 20.5 ล้านคน ส่วนปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อม 12.4%  ข้อมูลลักษณะที่อยู่อาศัยพบ ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 12%  ส่วนอีก 21.1% อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส เร่งหาทางออกทุกฝ่ายหาระบบสวัสดิการรองรับ โดยเฉพาะผู้สูงวัยภาวะพึ่งพิง ยากจน ขาดคนดูแล

 

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน   นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) บรรยายพิเศษ “สถานการณ์สังคมผู้สูงวัย : ความท้าทายที่ไทยและโลกกำลังเผชิญ” ภายในงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. 2565 “การเตรียมความพร้อมรอบด้านในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์สู่สังคมไทยที่มีสุขอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  

นพ.ภูษิต กล่าวว่า หากย้อนไปในปี 2513 โครงสร้างประชากร เป็นแบบพีรามิดฐานกว้าง เด็กเกิดใหม่เยอะ ผู้สูงอายุน้อย แต่ 50 ปีต่อมาในปี 2564 โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป เด็กเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตมากขึ้น และในปี 2565 แนวโน้มก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหากคิดสัดส่วนพบว่า ในปี 2564 ส่วนประชาชนสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.8%  ขณะที่ประชากรสูงอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอยู่ที่ 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 2.1%  ส่วนปี 2583 คาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 20.5 ล้านคน หรือ 31.4%  ขณะที่ประชากรสูงอายุ 80 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 3.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.2%  เห็นได้ว่าประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ขณะที่รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) พบว่า ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม 12.4%  โดยในผู้ชายพบ 9.8% ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 15.1% เทียบเท่าผู้สูงอายุวัยเกิน 60 ปี เป็นโรคสมองเสื่อม 1 ใน 8 คน    จากจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งประเทศ 800,000 คน

นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประเด็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจัดระบบรองรับ โดยข้อมูลจำแนกตามลักษณะการอยู่อาศัยปี 2564 พบว่า ผู้สูงอายุอยู่กับบุคคลอื่น ซึ่งรวมทั้งที่มีหรือไม่มีคู่สมรสอาศัยอยู่ด้วยอยู่ถึง 66.9%  ส่วนผู้สูงอายุอยู่ลำพังกับคู่สมรสมี 21.1% และผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว 12%  ซึ่งตัวเลขผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างปี 2564 อยู่ที่ 12%  ปี 2560 อยู่ 10.8% ปี2557 อยู่ที่ 8.7%

นพ.ภูษิต กล่าวว่า ในอนาคตเรื่องสวัสดิการต่างๆ ต้องมีรองรับให้ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ ซึ่งพบว่า ประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถูกพูดถึงกันมาก ยิ่งมีข่าวว่า รัฐบาลอาจจ่ายเบี้ยยังชีพให้เฉพาะคนยากจน ยิ่งถูกจับตามอง เพราะผู้สูงอายุเกือบ20% ต้องพึ่งพาเงินยังชีพจากรัฐบาล จึงมีการพิจารณาว่าจะต้องขับเคลื่อนให้มีการปรับเงินชราภาพให้สูงขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีระบบบำนาญแห่งชาติที่ทั่วถึงและเพียงพอ  ที่น่าสนใจคือ  โครงการวิจัยการวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลังแหล่งรายได้และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคํานึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ ของ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ควรปฏิรูประบบบํานาญและการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย

ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เดือนละ 3,000 บาท และออกแบบระบบบํานาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับมัธยฐานของการครองชีพสําหรับครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาท/เดือน โดยให้ผู้ทํางานอยู่นอกระบบสามารถทําการออมและให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบํานาญภาครัฐ ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยเสนอแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจํากัด สร้างระบบฐานข้อมูล ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุและเสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ”จากการทำงาน  ทั้งภาครัฐและเอกชน

“เรื่องผู้สูงอายุที่เกษียณ แต่สามารถทำงานได้นั้นพบว่า ประมาณ 50% ยังทำงานต่อได้ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 60-69 ปี เนื่องจากสุขภาพยังแข็งแรง ต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวหรือตนเอง  สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีการขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการ ทั้งเบี้ยยังชีพ ระบบเงินบำนาญชราภาพ รวมไปถึงที่อยู่อาศัย เพราะเมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดิมมีสถานที่พักคนชรารองรับ แต่หากมีจำนวนมากๆ การสร้างที่พักคนชรามากขึ้นอาจไม่สามารถทำได้ทั่วถึง” นพ.ภูษิต กล่าว

นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ทั้งการจัดบริการทางสังคม ท้องถิ่นร่วมกับพื้นที่ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล  ฯลฯ  รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แบ่งเป็น 1. เตรียมพร้อมตัวบุคคล ทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ วางแผนการเงินการออม และสังคม สภาพแวดล้อมต่างๆ 2.พัฒนาระบบรองรับสังคมสูงอายุ ทั้งระบบสุขภาพ ระบบทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org