คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ศูนย์ซ่อมสร้างสุข-ศูนย์สร้างสร้างสุข-ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ในจังหวัดสงขลา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลาที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ภพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ สปสช. เยี่ยมชมการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา)
นพ.จเด็จ กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 58 แห่งทั่วประเทศ จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในแต่ละจังหวัดขึ้นมา โดยในส่วนของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลาที่ดำเนินงานโดย อบจ.สงขลา นั้น เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ดำเนินงานได้อย่างโดดเด่นทั้งด้านการดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน และความโดดเด่นในการแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้สามารถบูรณาการการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกมิติ
กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 และได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก เช่น การจัดตั้งศูนย์สร้างสุขชุมชน เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแล ช่วยเหลือสนับสนุนและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการสาธารณสุข ขยายบริการไปในระดับชุมชนและในครอบครัว สร้างความเข้มแข็งในการช่วยเหลือกันในชุมชน ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 9 แห่ง
ทั้งนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน เพื่อให้บริการซ่อมบำรุง ยืม-คืน อุปกรณ์ ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 3 แห่ง มีธนาคารสร้างสุขชุมชนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการยืมกายอุปกรณ์/เครื่องช่วยความพิการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ มีการเปิดศูนย์กลางในการสาธิตและยืม-คืน กายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในโรงพยาบาล 17 แห่งทั่ว จ.สงขลา และยังจัดตั้งศูนย์ผลิตสร้างสุขชุมชน เพื่อผลิตกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีมาตรฐาน ตามประกาศรายการกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และรายการอื่น ๆ ตามความจำเป็นในพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ลงเยี่ยม "ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ" ซึ่งนางอรนุช มณีสอาด อายุ 53 ปี อสม.อนามัยเขารูปช้างสาขา 2 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา เล่าว่า อสม.จะรับผิดชอบในเขตของตนเอง คือ ถ้าเราทราบว่ามีคนป่วย เราจะต้องไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าคนไข้มีอาการอะไรบ้าง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่อนามัยก็จะเข้ามาดู และพิจารณาอาการเบื้องต้น ถ้าหากพบว่า คนไข้จะต้องได้รับทำกายภาพบำบัด ก็ต้องให้นักกายภาพบำบัดมาลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อทำการประเมินว่าคนนี้ต้องทำกายภาพบำบัดไหม หรือบางคนอาจจะไม่ต้องเดินทางมา ก็สามารถสอนได้ที่บ้าน โดยสอนให้ญาติดูแลเอง แต่บางคนมีความจำเป็นต้องพามายัง ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ทั้งนี้การส่งผู้ป่วยเราจะมีรถรับส่งเรียบร้อย
ซึ่งอสม. จะรับผิดชอบ อสม. 1 คน ไม่ต่ำกว่า 15 คน ที่ต้องดูแล เราจะมีการเยี่ยมบ้านคนไข้ด้วย หรือบางครั้งญาติเองอาจติดต่อ อสม. มาเองให้เข้าไปดู นากจากนี้ ในการทำงานนั้นบางครั้งอาจจะมีอุปสรรคบ้าง คือผู้ป่วยอาจไม่ชอบและผู้ป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้ เราเองจะมีเวรดูแลประจำแต่ละเคสอยู่แล้ว ซึ่งบางเคสอาจมีโรคประจำตัว คือความดันสูง เบาหวาน เราก็จะต้องพิจารณาเป็นรายๆไป
ตนรู้สึกดีใจและมีความสุขมากที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วย ได้มีโอกาสเข้าอบรมได้เรียนรู้ถึงเป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน ยื่งเมื่อผู้ป่วยหายดีและมีกำลังใจขึ้นเราก็ยิ่งมีกำลังใจทำงานมากขึ้น เราเต็มใจที่จะทำงานตรงนี้ถึงแม้จะมีท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง ไม่ค่อยมีเวลาเป็นส่วนตัวมากนัก แต่ก็ไม่ได้มีความเดือดหรือเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก เพราะเป็นงานที่เรารักตั้งแต่แรก
ชมคลิป https://youtu.be/k9Mj9AwRxI0
- 228 views