ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"อนุทิน" นำทีม รมต.สธ.อาเซียนเปิดสำนักงานเลขาธิการศูนย์ ACPHEED รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ เบื้องต้นแบ่งหน้าที่  3 ส่วน คือ ไทยดูเรื่องการตอบโต้เตรียมพร้อม เวียดนามดูการป้องกัน และอินโดนีเซียดูเรื่องการตรวจจับหาเชื้อ ขณะเดียวกันเร่งร่างสเปกเลขาธิการก่อนนำเข้าที่ประชุมอาเซียนที่ลาวให้เสร็จใน ก.ย.นี้  

 

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก ถนนสาทร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน รัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศอาเซียน 7 ประเทศ และรัฐมนตรีสาธารณสุขเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา และชิลี ร่วมกันเปิดตัว (Soft Launching) สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ตั้งอยู่ที่ชั้น 15 ของอาคารศูนย์การแพทย์บางรัก

 

นายอนุทินกล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโควิด ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ทั่วโลกเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือกันยกระดับขีดความสามารถทั้งระดับชาติและภูมิภาครับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งในอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยให้จัดตั้งศูนย์ ACPHEED ซึ่งใช้เวลา 3 ปีในการเจรจาจัดตั้ง ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11-15 พ.ค. 2565 ที่บาหลี อินโดนีเซีย มีฉันทามติให้ตั้งสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาคมอาเซียนและไทย

 

"การมีศูนย์นี้ในไทย จะทำให้เราได้รับข้อมูล องค์ความรู้ ความร่วมมือ การฝึกฝนบุคลากรสาธารณสุข การเก็บรวมรวมวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ นำส่งสำนักงาน ACPHEED เพื่อไปใช้เป็นนโยบาย การแถลงการมาตรการต่างๆ  เพราะเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล ทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคอุบัติใหม่ ซึ่งไม่ต้องเป็นโรคระบาดร้ายแรง อาจเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสวัสดิภาพคน รวมถึงยังมีเรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา เวชภัณฑ์ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก" นายอนุทินกล่าว

 

นายอนุทินกล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์ขณะนี้ สธ.ให้การดูแล แต่จะมีเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงาน ในขั้นต้นได้รับจากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มีกองทุนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนงบประมาณจากออสเตรเลีย และภาคีสมาชิกรวมถึงไทยด้วย ซึ่งเราก็ให้ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ต่อปี มีอินโดนีเซียและเวียดนามซึ่งเดิมเป็นคู่แข่งในการจัดตั้ง ก็เข้ามามีบทบาทร่วมบริหารด้วย โดยแบ่งหน้าที่การดำเนินงาน 3 ส่วน คือ ไทยดูเรื่องการตอบโต้เตรียมพร้อม เวียดนามดูการป้องกัน และอินโดนีเซียดูเรื่องการตรวจจับหาเชื้อ

 

นายอนุทินกล่าวว่า ข้อตกลงการจัดตั้ง (Establishment Agreement: EA) ศูนย์ ACPHEED คืบหน้าไปมาก จะไปสรุปผลในการประชุมอาเซียนที่ลาวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้ โดยจะมีการระเบียบการจัดตั้งศูนย์ กำหนดคุณสมบัติของเลขาธิการศูนย์ ACPHEED โดยจะให้มีการตั้งคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิในการกำหนดสเปกหรือทีโออาร์ของเลขาธิการ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง จะหมุนเวียนผู้มาดำรงตำแหน่งอย่างไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทย แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการมาดูแลสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ก็ต้องให้คณะทำงานไปพิจารณาคุณสมบัติว่าจะต้องเป็นอย่างไร เป็นคนในอาเซียนเท่านั้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีเลขาธิการ ACPHEED แต่สามารถเริ่มดำเนินงานได้เลย โดยเฉพาะเรื่องของการการฝึกอบรมคน

 

สำหรับสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED ตั้งอยู่ที่ชั้น 15 ของอาคารศูนย์การแพทย์บางรัก 17 ชั้น ถนนสาทร ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ โดยอาคารแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดทำการเมื่อต้นปี 2564 มีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก เช่น พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่สำหรับผู้รับบริการ ศูนย์ปฏิบัติตรวจการวิเคราะห์ ศูนย์ฉีดวัคซีน ศูนย์วิจัยและฝึกอบรม ที่พัก ห้องประชุมที่ทันสมัย เหมาะสมกับการใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการ และพร้อมดำเนินการทันทีเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนบรรลุข้อตกลงการจัดตั้ง (Establishment Agreement: EA) ภายในเดือนกันยายนนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง