สปสช.ย้ำ แจกจริงผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ตอนนี้เริ่มทยอยแจกไปเกือบ 1,000 รายแล้ว แนะผู้ป่วยติดเตียง/มีปัญหากลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ ติดต่อลงทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ รพ.สต. หรือ อบต./เทศบาล ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ส่วนใน กทม. ให้แจ้งรายชื่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านได้เลย แต่หากหน่วยงานในพื้นที่ยังไม่ทราบรายละเอียดให้โทรแจ้ง สายด่วน สปสช. 1330 แล้ว สปสช.จะช่วยประสานงานให้
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ความต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในระบบบัตรทองมีมาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมามีความพยายามจัดทำข้อเสนอให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง จนในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงในปีนี้ โดยบอร์ด สปสช. มีมติเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา อนุมัติให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นสิทธิประโยชน์ และดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องรอปีงบประมาณหน้า โดยให้ใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ในการจัดซื้อ
นพ.อภิชาติ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่นี้ จะแจกให้แก่คนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ครอบคลุมทุกสิทธิทั้งบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ และสิทธิอื่นๆ โดยผู้มีคุณสมบัติขอรับสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่มี 2 กลุ่ม คือ 1.เป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยใช้เกณฑ์คะแนนความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ( ADL) ไม่เกิน 6 คะแนน และ 2.กลุ่มผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามการประเมินโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่จำกัดอายุ แม้ว่าจะมีอายุไม่มากแต่ถ้ามีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ หรือมีคะแนน ADL ต่ำกว่า 6 ก็จะได้รับสิทธิเช่นกัน
ในส่วนขั้นตอนการดำเนินงานนั้น จะมีหน่วยงาน 3 หน่วยที่สามารถเสนอโครงการขอรับงบประมาณได้ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้ง 3 หน่วยงานนี้มีหน้าที่เสนอโครงการขอรับงบประมาณมายังกองทุน กปท. ในพื้นที่นั้นๆ เมื่อคณะกรรมการ กปท. อนุมัติแล้วก็จะสั่งจ่ายเงินเพื่อนำไปจัดซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่แล้วแจกจ่ายให้แก่กลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่มนี้ต่อไป ทั้งนี้จำกัดจำนวน ไม่เกิน 3 ชิ้น/คน/วัน
"ตอนนี้ทั้ง สปสช. ทั้ง 13 เขตพื้นที่เปิดให้ยื่นเสนอโครงการได้แล้ว และปัจจุบันก็เริ่มมีบางพื้นที่ที่เริ่มแจกผ้าอ้อมแก่กลุ่มเป้าหมายแล้วประมาณเกือบ 1,000 ราย และจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้สิทธิในพื้นที่ ยืนยันว่าการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่สามารถดำเนินการได้จริง แต่มีหลายคนที่ไปสอบถาม รพ.สต. หรือ อบต. ใกล้บ้านแล้วได้รับคำตอบว่ายังไม่ทราบรายละเอียด เรื่องนี้ต้องบอกว่าที่ผ่านมา สปสช.ได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมชี้แจงหลายครั้ง แต่ในบางพื้นที่อาจยังไม่ทราบข้อมูล จึงขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ต่อไป และท่านใดที่ไปสอบถามรายละเอียดแล้ว รพ.สต. หรือ อบต./เทศบาล ยังไม่ทราบรายละเอียด ท่านสามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ แล้วทางเจ้าหน้าที่จะได้ช่วยติดต่อประสานงานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ของท่านต่อไป" นพ.อภิชาติ กล่าว
นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ มีขั้นตอนการขอรับสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่คือให้ติดต่อลงทะเบียนได้ 2 จุดคือ 1.ที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน โดยใช้ที่อยู่ปัจจุบันเป็นหลัก เช่นบางคนมีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดแต่ลูกพามาดูแลที่ กทม. ก็ติดต่อรับสิทธิที่ กทม.ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ตามประชาชน ซึ่งในส่วนของ กทม. แจ้งได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และ 2.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล ซึ่งเมื่อติดต่อลงทะเบียนแล้ว จะมีผู้จัดการดูแล (Care manager) ทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อเหล่านี้เข้าระบบเพื่อทำโครงการขอรับงบประมาณจากจากกองทุน กปท. ในพื้นที่นั้นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีลักษณะเป็นพื้นที่เมือง การเดินทางอาจลำบาก ทาง สปสช. ได้หารือกับสำนักอนามัย กทม. และอาจจะใช้ระบบลงทะเบียนที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย คล้ายกับการแจก ATK ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดก่อนหน้านี้ แต่อาจต้องใช้เวลาเตรียมระบบไอทีให้พร้อมอีกประมาณ 1-2 เดือน อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ สามารถไปแจ้งความประสงค์ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ที่อยู่ใกล้บ้านได้ก่อน
"จริงๆในฐานข้อมูลของ สปสช. เรามีรายชื่อผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในระบบประมาณ 30,000 กว่าราย และส่งรายชื่อให้ Care manager ในแต่ละพื้นที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิแล้ว ดังนั้น บางพื้นที่ท่านอาจไม่ต้องทำอะไร ทางเจ้าหน้าที่อาจติดต่อมาหาท่านเองว่าท่านได้รับสิทธิผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แต่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดต่อไปและท่านเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สามารถรับสิทธิประโยชน์นี้ได้ ก็สามารถติดต่อแจ้งรายชื่อไปที่ รพ.สต. หรือ อบต. ในพื้นที่ของท่านได้ โดยในส่วนของผู้ป่วยติดเตียงใช้บัตรประชาชนใบเดียว แต่ในส่วนของผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ อาจต้องใช้ใบรับรองแพทย์ หรือไปทำแบบประเมินที่ รพ.สต. เพิ่มเติมก่อน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอรับสิทธิ" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 12210 views