รองนายกฯ "อนุทิน" แจงยิบ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.. มี 103 มาตรา แบ่งสาระสำคัญ 16 ข้อมุ่งควบคุมการใช้ที่เข้มงวด ทั้งครัวเรือนปลูกได้ 15 ต้น ห้ามเด็กเข้าถึง จำหน่ายจ่ายแจก แก่เยาวชน มีความผิด โทษหนัก ควบคุมวิธีการขาย และโฆษณา ฯลฯ

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่หอประชุมอาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร  เดินทางมาร่วมประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจบุคลากร ทางการแพทย์ ประชาชน และผู้ประกอบการ เน้นใช้กัญชารักษาผู้ป่วย

 
นายอนุทิน กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชาออกนั้น เพื่อมุ่งใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  ไม่ได้มุ่งหวังให้นำมาใช้เพื่อสันทนาการ เพื่อให้ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถ้าใช้ให้ถูกต้อง นอกจากจะเป็นสมุนไพร แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เราจะหารายได้จากส่วนต่างๆ ของกัญชา ในแต่ละปีตลาดกัญชาของไทยจะเติบโตขึ้นขึ้นเรื่อยๆ  มีแนวโน้มจะแตะหลักหมื่นล้านบาทใน 2-3 ปี 

"มีข่าวดีมากแจ้งให้ทราบ เมื่อวานนี้ ทางคณะกรรมาธิการ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ได้ออกมาชี้แจงความคืบหน้า ว่าร่างเสร็จแล้ว ยื่นเข้าสภาทันสัปดาห์หน้าแน่นอน และคิดว่าจะผ่านได้ ไม่มีปัญหา เพราะเป็นร่างที่ทุกฝ่ายช่วยกันปรับปรุง มีทั้งสิ้น 103 มาตรา เป็นนิมิตหมายที่ดี ก็หวังว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายกัญชาการแพทย์" นายอนุทิน กล่าว

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะมีการควบคุมการใช้ที่เข้มงวดขึ้น กว่าปัจจุบัน ไม่ให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าถึง ห้ามสูบในที่สาธารณะ จะมีการดูแลเรื่องโฆษณาสินค้า และจะมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาปรับแก้กฎหมาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ข้างหน้า ในส่วนการปลูกในครัวเรือน จากที่หาเสียงไว้ว่าจะให้ปลูก 6 ต้น ตอนนี้เปลี่ยนเป็นลงทะเบียนปลูกได้ 15 ต้น ส่วนที่สารสกัดที่มีค่า THC เกินกว่า 0.2% ยังเป็นสารเสพติด จากนี้ เมื่อกฎหมายผ่านสภา บังคับใช้ ก็ต้องให้ อสม.เข้าไปประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ว่าอะไรทำได้ อะไรห้ามทำ 

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากได้ให้ความเห็นชอบรับหลักการในวาระที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…..ซึ่งมีการประชุมต่อเนื่องจนถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. มีการควบคุมกัญชาโดยการผสมผสานประยุกต์ใช้กฎหมายการควบคุมยาสูบและการควบคุมสุรา และกระท่อม ดังนั้นการควบคุมกัญชาจึงไม่ต่ำกว่าการควบคุมสุรา ยาสูบ และกระท่อม
2. แม้สำหรับประเทศไทยแล้วจะไม่ได้จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ยังคงให้สารสกัดที่มี THC (สารทำให้มีนเมา)เกินกว่าร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติด ดังนั้นสารสกัดของกัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักจะต้องไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
3. ได้กำหนดให้มีการแบ่งพืชกัญชา กัญชง ออกจากกันเพื่อให้มีระดับการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยจะให้พิจารณาจากปริมาณสารที่ทำให้มีนเมา คือ สาร THC ในช่อดอกเป็นตัวแบ่งกัญชา(ควบคุมเข้มมากกว่า) และกัญชง (ควบคุมอ่อนกว่า) แต่ไม่ว่ากัญชาหรือกัญชงก็ยังคงจะต้องมีการควบคุมต่อไป

4. คณะกรรมาธิการฯ ยังคงเห็นว่าทั้งกัญชา กัญชง โดยภาพรวมจะยังคงต้องปฏิบัติตามแนวทางของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ปี ค.ศ. 1961 โดยให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ และยังคงให้ใช้ประโยชน์ในฐานะเป็น  “พืชกรรมสวน”  (Horticultural purpose) เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ โดยปรากฏหลักฐานการใช้ส่วนต่างๆของกัญชาในการประกอบอาหารในประวัติศาสตร์ตำราอาหารของประเทศไทยที่ใช้อย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย 

สำหรับวัตถุประสงค์ในเชิงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์  โดยในด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับใยไฟเบอร์ของพืชกัญชง รวมถึงการพาณิชย์เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์ และยังคงมีการให้มีไว้เพื่อการพาณิชย์ในรูปของอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้การควบคุมระดับความปลอดภัยในด้านอาหารตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารหลายฉบับ  เช่น พระราชบัญญัติอาหาร ประกาศกรมอนามัย ฯลฯ และยังมีพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ควบคุมเข้มข้นกว่าอีกหลายประเทศที่ได้เปิดกัญชาในทางนันทนาการ ซึ่งรวมถึง หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา, แคนนาดา, อุรุกกวัย, เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ 

5. สำหรับการปลูกกัญชา และกัญชง “ในครัวเรือนจะห้ามขาย” จะใช้เพียงการ “จดแจ้ง”เท่านั้นและหน่วยงานที่รับจดแจ้งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน โดยกำหนดให้กัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 15 ต้น ในขณะที่กัญชงที่ไม่มึนเมาและเน้นการใช้ใยผ้าสามารถจดแจ้งใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 5 ไร่ ให้ใช้การจดแจ้งโดยไม่ต้องขออนุญาตเช่นกัน
6. สำหรับการปลูกกัญชา และกัญชง การผลิต การสกัด การแปรรูป และขาย “เพื่อธุรกิจ” จะต้องขออนุญาตทุกกรณี และหากภาครัฐได้รับเอกสารครบถ้วนทางคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

7. การใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ที่เป็นวัตถุดิบที่มีกฎหมายอื่นๆควบคุมดูแลอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายฉบับนั้นๆไป  เช่น เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นยาตามกฎหมายว่าด้วยยา เป็นอาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เป็นเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มี กฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
8. กฎหมายฉบับนี้ห้ามโฆษณา “ช่อดอกหรือยางของกัญชา หรือสารสกัด”  รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการสูบกัญชาโดยเด็ดขาดไม่ว่าในรูปแบบใด  อีกทั้งรวมถึงการห้ามโฆษณาส่วนอื่นๆของกัญชาและกัญชงที่เกินจริงด้วย

9. ห้ามขายกัญชา กัญชง สารสกัดให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางและมีบทลงโทษจำคุก 1 ปีและปรับไม่เกิน 1 แสนบาท  ส่วนบทลงโทษในมาตราอื่นๆหากกระทำกับกลุ่มเปราะบางดังกล่าวด้วย จะมีบทลงโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
10. มีการควบคุมวิธีการขาย  และสถานที่ห้ามขาย 
11. ห้ามสูบกัญชาในสถานที่ต้องห้าม ซึ่งรวมถึง วัด, สถานที่สาธารณะ, สถานที่ราชการ, สถานศึกษา, สถานพยาบาล, หอพัก, สวนสาธารณะ, ร้านอาหาร รวมถึงสถานที่ซึ่งรัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดเพิ่มเติมในพื้นที่ห้ามสูบเพิ่มเติมได้โดยคำแนะนำของคณะกรรมการฯ

12. ห้ามผู้มีนเมาจากกัญชาขับยานพาหนะ
13. เปิดให้มีการปลูกเพื่อปรุงยาเพื่อผู้ป่วยเฉพาะรายได้ในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลโดยการจดแจ้ง 
14. บทลงโทษในความผิดเล็กน้อยมีตั้งแต่ปรับ ไปจนถึงโทษจำคุก โดยโทษสูงสุดคือกรณีการ “นำเข้า” กัญชากัญชงจากต่างประเทศโดยไม่ได้ขออนุญาตจะมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าความผิดใดกระทำความผิดร่วมกับการขายให้กับเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ให้มีบทลงโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของความผิดนั้น 

15. กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้สำหรับการบริโภคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ รวมถึงการสูบของผู้ป่วยในสถานพยาบาลของภาครัฐและสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  (เช่น ผู้ป่วยระยะท้าย  หรือผู้ป่วยระยะประคับประคอง ฯลฯ )

โดยการอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน อีกทั้งยังให้คณะกรรมการกัญชา กัญชงสามารถให้ความเห็นชอบเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเขตหรือสถานที่สูบกัญชาได้อย่างมีการควบคุมและได้มาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้ไม่สูบกัญชา โดยต้องมีการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเอาไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบกฎกระทรวงนั้นด้วย

16. ผู้ที่จะออกกฎกติกา หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ คือคณะกรรมการกัญชา กัญชง ซึ่งมีองค์ประกอบคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ  คณะกรรมการไม่รวมรัฐมนตรีมี 24  คน  มีข้าราชกระทรวงสาธารณสุข 6 คน (รวมเลขาอ.ย.), มีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน, ข้าราชการอื่นๆนอกกระทรวงสาธารณสุข 4 คน เป็นผู้แทนเอกชนจากองค์กรอาชีพและวิชาชีพต่างๆ 6 คน