ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ ในการจัดหาและบริหารจัดการโลหิต ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสภากาชาดไทย
วันนี้ (18 กรกฎาคม 2565) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการส่งเสริม รณรงค์และการบริหารจัดการโลหิต” ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับ สภากาชาดไทย ปีงบประมาณ พ.ศ 2565 โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้ลงนาม ทั้งนี้มีผู้ลงนามเป็นพยานประกอบด้วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และ น.ส.ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โลหิตเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้มีผู้บริจาคโลหิตลดลง จนเกิดภาวะขาดแคลนโลหิตทั่วประเทศ จำนวนโลหิตบริจาคไม่พอเพียงต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงประสานความร่วมมือ กับศูนย์บริการโลหิต ในการส่งเสริม รณรงค์ และบูรณาการการบริหารจัดการโลหิต ด้วยการขยายกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มจำนวนผู้บริจาคโลหิต จากบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีมากกว่า 9,000 คน ในส่วนกลาง มากกว่า 350,000 คน
ในส่วนภูมิภาค อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศประมาณ 1 ล้านคน และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ ได้มีโอกาสบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบคุณภาพงานบริการโลหิตของธนาคารเลือดทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาการใช้ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ (Big DATA) ด้านการบริจาคโลหิตและการใช้บริการโลหิต ภายใต้ “โครงการส่งเสริม รณรงค์และการบริหารจัดการโลหิตระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสภากาชาดไทย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565”
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีหน้าที่จัดหาโลหิตให้เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้กลับมาให้บริการตามปกติจึงมีการใช้โลหิตมากขึ้น โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง ขอใช้โลหิตสูงกว่า 7,000 ยูนิตต่อวัน แต่สามารถจ่ายให้ได้เพียง 50% เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ทั้งการผ่าตัดที่ต้องใช้โลหิตจำนวนมากและเร่งด่วน เช่น ผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตเฉียบพลัน อุบัติเหตุ ตกเลือดหลังคลอดบุตร และเลือดออกในทางเดินอาหาร ฯลฯ และต้องมีโลหิตสำรองระหว่างการผ่าตัดจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากโลหิตสำรองไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัด
อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังมีโรคที่ต้องใช้โลหิตเป็นประจำ เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง และโรคเกล็ดเลือดต่ำชนิดรุนแรง ต้องได้รับโลหิตอย่างน้อยเดือนละ 1 – 2 ยูนิต หากไม่ได้รับโลหิตจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจทำให้หัวใจทำงานหนักจนหัวใจล้มเหลวได้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการ จัดหาโลหิตทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว โดยจะร่วมกันส่งเสริมรณรงค์และบริหารจัดการการจัดหาโลหิต ตลอดจนพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการโลหิตของประเทศ และสนับสนุนข้อมูลให้แก่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานด้านบริการโลหิตของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
- 170 views