คณะกรรมการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เผยสถานการณ์ไทยดีขึ้น อัตราท้องไม่พร้อมเหลือ 25 ต่อ 1 พันประชากร พร้อมตั้งเป้าให้เหลือ 15 ต่อ 1 พันประชากรในปี 2570 แต่ห่วงพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึง รพ. กลุ่มชาติพันธุ์ อย่างเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ยังพบท้องไม่พร้อม ชี้ส่วนหนึ่งมาจากป้องกันผิด ยังใช้นับวันตกไข่ ไม่สวมถุงยางอนามัย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งที่ 1/2565 ว่า ขณะนี้พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้ออกกฎหมายลูกครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมจึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับตลอดตามการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับการอบรม รณรงค์ให้ความรู้เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือท้องไม่พร้อม กลุ่มอายุ 15-19 ปีให้เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ในปี 2570 ให้เหลือ 15 ต่อ 1,000 ประชากร
"แม้ว่าปัจจุบันการขับเคลื่อนงานลดอัตราการท้องไม่พร้อมดีขึ้นแล้ว เหลืออยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร แต่เราต้องวางเป้าหมายใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก และให้คงค่าเป้าหมาย อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี ไว้ที่ ไม่เกิน 0.5 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 ทั้งนี้ มีการตั้งคณะทำงานบูรณาการฐานข้อมูล กำหนดแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพพร้อมจัดทำรายละเอียดชุดข้อมูลแม่วัยรุ่น" นายสาธิต กล่าว
นายสาธิต กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติสาธารณสุขล่าสุดพบว่าอัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี โดยปี2564 อยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร ปี 2563 อยู่ที่ 28.7 ต่อ 1,000 ประชากร ปี 2562 อยู่ที่ 31 ต่อ 1,000 ปะชากร ขณะที่กลุ่มอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 0.9 ต่อ 1,000 ประชากร ส่วนอัตรการคลอดซ้ำปี 2563 ลดเหลือ 8.1 % จากปี 2562 อยู่ที่ 8.5 % นอกจากนี้เราพบว่าในกล่มที่ตั้งท้องไม่พร้อมนั้นยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียนปี 2564 อยู่ที่ 47.5 % เพิ่มจากปี 2563 อยู่ที่ 28 % และที่สำคัญคือมีแนวโน้มเรียนในสถานศึกษาเดิมมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
ด้าน นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ในภาพรวมการท้องไม่พร้อมลดลงทุกภูมิภาค แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีปัญหา คือพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงสถานพยาบาล กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เป็นต้น นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ยังพบว่ามีปัญหาท้องไม่พร้อม คือ การป้องกัน หรือการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิด ซึ่งการฝังยาคุมถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่มีจำนวนมากที่เลือกใช้การนับวันตกไข่, หลั่งนอก, ซึ่งมีโอกาสพลาดสูง ขณะที่การใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาท้องไม่พร้อมตามมา
"ตามที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้คุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุม ทำให้หลายคนละเลยไม่สวมถุงยางอนามัย จนขณะนี้พบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ขอเตือนว่าแม้จะฝังยาคุมกำเนิดแล้ว ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ขอให้สวมถุงยางอนามัยด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" นพ.บุญฤทธิ์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 11753 views