กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผย อสม.ติดโควิดจากการปฏิบัติหน้าที่ยื่นเรื่องไปที่ สสจ. เพื่อขอรับการช่วยเหลือผ่านกองทุนเกี่ยวข้อง  ขณะที่ สปสช. อีกช่องทางให้ อสม. ยื่นเรื่องผ่าน สปสช.เขตทั่วประเทศ หากเป็นบุคลากรทำงานโควิด แต่ติดเชื้อ มีระบบช่วยเหลือเบื้องต้นรองรับ รองเลขาฯ ย้ำช่วยเหลือย้อนหลังได้

 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข   ได้มีการดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิดและติดเชื้อไปก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า มีข้อทวงถามกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่ปฏิบัติงานเช่นกันและติดโควิด19 มีการเยียวยาช่วยเหลืออย่างไรนั้น

 

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  กล่าวถึงการช่วยเหลือ อสม. ที่ติดเชื้อโควิด19 ว่า  การช่วยเหลืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ปฏิบัติงานโควิด แต่ปรากฏว่าติดเชื้อด้วยนั้น โดยสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอเงินเยียวยาเรื่องนี้ผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  แต่ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) มีระบบดูแลช่วยเหลือ อสม. เช่นกัน โดยสามารถยื่นเรื่องผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)หรือทางโรงพยาบาลที่ตนสังกัด เพื่อให้ยื่นเรื่องมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้

“เรามีกองทุนในการช่วยเหลือ อสม.  ทั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยา อสม.ที่ติดเชื้อโควิด 19 จากคุณคีรี กาญจนพาสน์ , กองทุน  นพ.อมร นนทสุต เพื่อช่วยเหลือเยียวยา อสม. ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งโดยตรง และทางอ้อม  และยังมีเงินบริจาคบัญชี “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด    รวมทั้งเงินช่วยเหลือเยียวยาจาก สปสช. ดังนั้น อสม.ที่ติดเชื้อสามารถติดต่อไปยัง สสจ. หรือทางจังหวัดเพื่อเดินเรื่องดังกล่าวได้” นพ.ธเรศ กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้ให้บริการทั้ งบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19  ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 42  หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์และปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโควิด แต่ติดเชื้ออันเนื่องมาจากการทำงาน สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ผ่านทาง สปสช. เขตทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถยื่นเรื่องย้อนหลังได้เช่นกัน    

ทั้งนี้  สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข กำหนดใน 3 กรณี ดังนี้ 

1. กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท

 

2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท

 

3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท

 

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org