ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 ย้ำนโยบายยกระดับบัตรทอง "ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว" ประชาชนที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในไม่ต้องร้องขอใช้สิทธิ โรงพยาบาลจะรักษาให้เลยโดยไม่ถามหาใบส่งตัว เริ่มมาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 แล้ว หากยังมีความเข้าใจผิดว่าให้ไปขอใบส่งตัวก่อน ให้โทรปรึกษาสายด่วน สปสช. 1330 ได้เลย
ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี กล่าวถึงนโยบายยกระดับบัตรทอง "ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว" ซึ่งมีประชาชนบางส่วนที่ยังสับสนหรือไม่เข้าใจว่าคืออะไรหรือต้องใช้สิทธิอย่างไร โดยอธิบายว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ใช้กับผู้ป่วยใน ซึ่งก็คือผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล แต่เดิมเมื่อผู้ป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เช่น ไปต่างพื้นที่แล้วเจ็บป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล หรือ ไปโรงพยาบาล A แล้วโรงพยาบาล A ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์ที่รักษาได้ ต้องส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาล B ที่มีศักยภาพมากกว่า
ซึ่งในการส่งตัวนั้นโรงพยาบาลต้นทางจะออกใบส่งตัวพร้อมประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยถือติดตัวไปยังโรงพยาบาลปลายทางด้วย หากไม่มีใบส่งตัวก็ต้องกลับมาขอใบส่งตัวหรือออกค่าใช้จ่ายเอง แต่เมื่อมีนโยบายนี้แล้ว ผู้ป่วยสามารถเข้าไปรับบริการได้เลยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ไม่ต้องกลับมาขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการประจำของตัวเอง ไม่ต้องเรียกร้องขอใช้สิทธิใดๆทั้งสิ้นเพราะโรงพยาบาลจะตรวจสอบสิทธิแล้วเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. โดยตรง
ทพ.กวี กล่าวว่า นโยบายนี้เกิดจากดำริของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมอบหมายให้ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับบริการบัตรทองโดยมีเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะดำเนินการด้วย ซึ่งการดำเนินการได้แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 มีการนำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 ในปี 2563 และ ระยะที่ 2 ขยายการดำเนินการไปทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา หมายความว่าในปัจจุบัน ผู้ใช้สิทธิบัตรทองทุกคนที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไปแล้วนั่นเอง สามารถรับบริการได้เลย ส่วนที่เหลือเป็นงานหลังบ้านที่โรงพยาบาลจะดำเนินการเอง
"คำว่าใบส่งตัวมี 2 นัยยะ 1.เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหนึ่ง แล้วโรงพยาบาลนั้นรักษาไม่ได้ ก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ โดยจะมีใบส่งตัวพร้อมประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยถือติดตัวไปด้วย 2. นัยยะของได้รับการจ่ายชดเชยค่ารักษา เมื่อโรงพยาบาลที่ 2 รักษาแล้ว โรงพยาบาลที่ส่งตัวก็จะตามจ่ายค่ารักษาให้หรือ ขอรับการจ่ายชดเชยจากสปสช แต่ตามนโยบายนี้ สปสช. จะเป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ดูแลค่าใช้จ่ายให้โดยที่โรงพยาบาลต้นทางไม่ต้องไปตามจ่ายอีก และไม่ขอหลักฐานการมีใบส่งตัว ขณะเดียวกัน ในส่วนของประวัติการรักษา ระหว่างโรงพยาบาลจะติดต่อขอข้อมูลกันเอง ดังนั้นนโยบายนี้จึงเป็นการปลดล็อกทั้งข้อมูลประวัติการรักษาและการตามจ่าย จึงไม่ต้องมีใบส่งตัวแล้ว"ทพ.กวี กล่าว
ทพ.กวี กล่าวอีกว่า ในส่วนของเขตสุขภาพที่ 8 ที่ตนรับผิดชอบอยู่นั้น ทางผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ได้สมัครใจร่วมเข้าเป็นพื้นที่นำร่องร่วมกับเขตสุขภาพที่ 9 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนำร่องนี้ก็ได้ทดลองหาว่ามีปัญหาจุดไหนบ้าง เช่น ประชาชนไม่มั่นใจจึงต้องประชาสัมพันธ์อย่างมากว่าไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และอีกส่วนคือเจ้าหน้าที่หน้างานยังไม่รู้นโยบายแล้วยังบอกให้ประชาชนกลับไปขอใบส่งตัว แต่จนถึงปัจจุบันการดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นแล้ว
"ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถรับสิทธินี้ได้ทุกคน ในทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถ้าไปรับบริการแล้วต้องนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ต้องร้องขอสิทธิอะไร โรงพยาบาลให้บริการได้เลยแล้วไปเบิกจ่ายจาก สปสช. หรือหากไม่ได้รับความสะดวก ยังถูกเจ้าหน้าที่แจ้งให้กลับไปขอใบส่งตัวอีก สามารถติดต่อศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาลนั้นๆ หรือหน่วย 50(5) ในพื้นที่ หรือแจ้งที่ สปสช.เขตพื้นที่ รวมทั้งสามารถโทรเข้าสายด่วน 1330 เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ประสานกับโรงพยาบาลต่อไป"อย่างไรก็ตามกรณีการส่งตัวปกติแล้วทางโรงพยาบาลที่ส่งตัวเขียนใบส่งตัวให้ก็ไม่ได้ผิดกติกาอะไร” ทพ.กวี กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 1694 views