เตรียมพร้อม!  หากโควิดเข้าสู่ “โรคประจำถิ่น” ใครป่วยรักษาฟรีตามสิทธิแต่ละกองทุนฯ ด้าน บอร์ด สปสช. จ่อยกเลิกออกหน่วยตรวจ ATK ของสถานพยาบาลนอกระบบ แต่ปชช.มีความเสี่ยงยังตรวจได้ รพ.ตามสิทธิ์ รวมทั้งที่สปสช.แจกผ่านร้านขายยา ขณะที่ HI อาจยกเลิก เหตุโรคไม่รุนแรง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่แนวทางกรมการแพทย์  พร้อมปรับเปลี่ยนระบบเบิกจ่ายผู้ป่วยใน

 

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการเตรียมการดูแลผู้ป่วยหลังจากที่โรคโควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับการดูแลตามสิทธิของตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม ซึ่งแต่ละกองทุนก็ต้องเข้ามาดูแล และการประชุมคณะกรรมการ สปสช. (บอร์ด สปสช.) ครั้งล่าสุด ยกเลิกการการออกหน่วยตรวจ ATK ของสถานพยาบาลนอกระบบ แต่ประชาชนที่มีความเสี่ยง มีข้อบ่งชี้ มีอาการสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือ ในส่วนที่ สปสช. แจก ATK ให้ประชาชนนั้น ขณะนี้ยังแจกเหมือนเดิมผ่านเครือข่ายร้านขายยาตามที่กำหนด ตรงนี้น่าจะยกเลิกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ให้บริการ เพียงแต่สปสช.ในฐานะผู้ดูแลกองทุนก็จะตามไปจ่ายเงินให้

 

นอกจากนี้  อาจะมีการยกเลิกระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) เนื่องจากปัจจุบันโรคไม่รุนแรง และประชาชนหันมาเข้าระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอกมากขึ้น อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ ซึ่ง สปสช. มีความพร้อม โดยเตรียมมาตรการทางการเงินให้สอดคล้องกับบริการที่เปลี่ยนไป โดยในปีงบประมาณ 2565 ยังเหลือเวลาอีก 3 เดือน หากประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่น วันที่ 1 ก.ค.65 ก็จะยังใช้งบที่ได้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ แต่ก็ต้องดูว่าจะเพียงพอหรือไม่ ส่วนปีงบประมาณ 2566 จะเป็นการใช้งบฯ ปกติ ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มกรณีการดูแล รักษาโรคโควิดเข้าไปประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้งบรายหัวเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 3,800 บาทต่อคน เพิ่มเป็นประมาณ 3,900 บาทต่อคน เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิดในภาวะปกติ

“ส่วนเรื่องการเบิกจ่าย ตอนนี้กำลังให้ทีมวิชาการดูอยู่ เพราะจากนี้ถ้าโควิดเข้าระบบผู้ป่วยในก็อยากให้เบิกจ่ายตามระบบปกติ แต่ที่ผ่านมาเราเบิกจ่ายแบบไม่ปกติ เช่นจ่ายวันละ 1-2 พัน ซึ่งจริงๆ ในการดูแลผู้ป่วยในนั้นจะมีระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ซึ่งให้ทีมช่วยดูอยู่ รพ.จะได้ไม่ต้องไปทำระบบการเบิกใหม่วุ่นวายไปหมด เพราะการเบิกตามชิ้นงานต้องมีการตรวจสอบก่อน ดังนั้นในปีหน้าก็ต้องมาดูถึงการเบิกจ่ายในระบบปกติ” เลขาฯ สปสช. กล่าว และว่า ส่วนกรณียูเซปพลัส ซึ่งเป็นมาตรการเสริมกรณีป่วยสีเหลืองและแดงนั้น ขึ้นกับการพิจารณาของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเสนอเข้า ครม.ซึ่ง สบส.ต้องดูว่าตัวเลขผู้ป่วยสีเหลืองและแดงมีมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นจากข้อมูลของ สปสช.ที่ตามไปจ่ายเงินให้ก็มีจำนวนไม่มาก   

 

** เมื่อถามถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังจากการเข้าสู่โรคประจำถิ่น.....

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ให้การดูและผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนต่อเนื่อง 2 ปี จึงมีการผูกงบประมาณไว้ 2 ปี แต่จะใช้งบประมาณจากมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันฯ หรืองบจากที่ไหน ต้องไปพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเวลาฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียง หรืออะไรต่างๆ นั้น งบฯ ที่จ่ายชดเชยไม่ได้จ่ายเพราะผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่เป็นงบที่เราพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีน จึงต้องชดเชยความเสียหายนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการฉีดวัคซีน และต่อจากนี้หากมีความชัดเจนแล้วว่าหลังจากนี้ต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทุกปี ก็เหมือนกับมาตรา 41 สปสช. ก็มีการชดเชยให้ทุกปีอยู่แล้ว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org