“อนุทิน”เปิดโครงการนำร่องเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี ดึง 6 อปท.ร่วมคัดกรองตับอักเสบซี หากเจอให้ยารักษาทันที เป็นโมเดลก่อนขยายทั่วประเทศ ปลดล็อกเงื่อนไข แพทย์ทั่วไป รพ.อำเภอที่อบรมให้จ่ายยาได้ มอบ อภ.ผลิตยาช่วยราคาถูกลงครึ่งหนึ่งจาก 2 หมื่นบาทเหลือ 1 หมื่นบาทต่อคอร์ส กรมควบคุมโรคเผยความชุกไม่มาก ตรวจ 100 คนเจอไม่ถึง 1 คน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดโครงการนำร่องการเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ปี 2565 (Test and Treat) จ.นนทบุรี โดยมอบยาต้านไวรัสให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 6 แห่งของนนทบุรีที่เข้าร่วมดำเนินการ
นายอนุทินกล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นสาเหตุของตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ แม้จะมียาต้านไวรัสชนิดรับประทาน Sofosbuvir/Velpatasvir ที่มีประสิทธิภาพสูง กินเพียง 12 สัปดาห์ รักษาให้หายขาดมากกว่า 90% ขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ 2 แต่มีปัญหาผู้ติดเชื้อยังไม่สามารถเข้าถึงยา โดยปี 2561-2564 มีผู้ติดเชื้อได้รับยาเพียง 14,503 ราย เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การใช้ยา เช่น ค่าปริมาณไวรัสต้องมากกว่า 5,000 IU/ml ผู้ติดเชื้ออายุไม่เกิน 70 ปี ต้องจ่ายโดยอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหาร ซึ่งไม่มีในทุกโรงพยาบาล รวมถึงยามีราคาแพงเพราะต้องนำเข้า
นายอนุทินกล่าวว่า ตนจึงมอบให้ สปสช.และคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เร่งแก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาเองเพื่อให้ราคาถูกลง จาก 2 หมื่นบาทต่อคอร์ส เหลือ 1 หมื่นบาทต่อคอร์ส หากต้นทุนราคาถูกกว่านี้ก็จะทำให้ราคาลดลงกว่านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการขึ้นทะเบียน และมอบให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และสำนักงานปลัด สธ. พัฒนาศักยภาพแพทย์ทั่วไปของ รพ.ชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตรวจรักษาและรับยาจาก รพ.ใกล้บ้าน โดยมีอายุรแพทย์ทางเดินอาหารใน รพ.จังหวัดดูแลให้คำปรึกษา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงมีมติให้กรมควบคุมโรคดำเนินการโครงการนำร่องเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ด้วยวิธี Test and Treat เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัสเร็วหลังตรวจวินิจฉัยยืนยันโดยไม่ติดเงื่อนไข ซึ่งนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และนนทบุรี
"วันนี้เปิดโครงการนำร่องที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เป็นจังหวัดแรกที่เป็นต้นแบบดำเนินการ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ว่าฯ นนทบุรี อปท. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ รพ.ในพื้นที่ เป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นร่วมมือขับเคลื่อนให้ไทยสามารถกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 และอยากให้ อปท.ร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มขึ้น เร่งสร้างความตระหนักของประชาชน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาให้หายขาดโดยเร็ว สำหรับการขยายไปทั่วประเทศ จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด" นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า พื้นที่นนทบุรีมี อปท.ร่วมดำเนินงาน ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลเมืองบางกรวย เทศบาลเมืองบางคูรัด เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลตำบลบางเลน และเทศบาลตำบลไทรน้อย จะร่วมคัดกรองหาผู้ติดเชื้อร่วมกับ รพ.ในพื้นที่ ได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.บางกรวย รพ.บางบัวทอง รพ.ปากเกร็ด รพ.บางใหญ่ และ รพ.ไทรน้อย โดยรูปแบบการจัดบริการ จะให้ รพ.อำเภอและแพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมแล้วจ่ายยารักษาได้ และเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง สธ.กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป
เมื่อถามถึงจำนวนยาต้านไวรัสและชุดตรวจที่มอบให้ อปท. 6 แห่งในนนทบุรีไปดำเนินการมีจำนวนเท่าไร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคสนับสนุนชุดตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี น้ำยาตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ และสนับสนุนยาต้านไวรัสให้กับ รพ.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งตัวเลขจะไม่เยอะมาก จากการดูความชุก สมมติตรวจ 100 คน เจอไม่ถึง 1 คนด้วยซ้ำ คือ เอาไปคัดกรองในประชาชนถ้าเจอก็ให้ยาเลย แต่ละจังหวัดนำร่องก็จะกระจายยาและชุดตรวจไปไม่เยอะ จังหวัดหนึ่งประมาณ 200-300 ชุด เพื่อให้เห็นว่าวิธีดำเนินการเช่นนี้ใช้ได้ผล ส่วนอีก 3 จังหวัดนำร่องก็เริ่มดำเนินการแล้วเช่นกัน มีการอบรมแพทย์ทั่วไปแล้ว วิธีตรวจ คู่มือ ยาก็จัดส่งไปตามขั้นตอนตามแผนแล้ว
- 891 views