สบส.ร่วมดีเอสไอ ลุยคดี “อุ้มบุญ” พบกระบวนการต่างชาติจ้างคนไทย ด้านอธิบดีดีเอสไอ เผยรับเป็นคดีพิเศษ 2 คดีอยู่ระหว่างสอบสวน เร็วๆนี้เตรียมจับกุมผู้เกี่ยวข้อง อุบ! คนเกี่ยวข้องอาจเป็นแพทย์หรือไม่ใช่ก็ได้ ขณะที่ปัจจุบันมีเคสอุ้มบุญกว่า 19 ราย ส่วนใหญ่โซนเอเชีย  ขณะที่สบส.เตรียมปรับแก้กม. ให้ต่างชาติอุ้มบุญถูกกฎหมาย อาจพิจารณาหญิงไทยอุ้มบุญถูกกฎหมาย แต่ต้องมีขั้นตอน ย้ำ! ปรับกฎมายยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่จะเสนอปีนี้ 

 

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 31 พ.ค.2565 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรากฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558  เพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และควบคุมการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม แต่ก็ยังมีผู้เห็นแก่ประโยชน์ ลักลอบนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในทางที่ผิด ที่รู้จักกันคือ การอุ้มบุญ หรือการรับจ้างตั้งครรภ์แทน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สบส. จึงร่วมกับทางดีเอสไอ ในการลงนามทำงานร่วมกันเพื่อสืบสวนคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้าถึงข้อมูล  ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเราจะพบว่าคดีอุ้มบุญมีความซับซ้อน เด็กที่เกิดมาก็ยังไม่รู้ว่าได้รับการดูแลอย่างไร และอาจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับทางดีเอสไอ ในการช่วยเรื่องคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยคุ้มครองเด็กจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้มากขึ้น

ด้านนพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดดีเอสไอได้รับแจ้งจาก สบส. กว่า 10 คดี ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน พบว่า มีพฤติการณ์ที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่จ้างวาน  ผู้ดำเนินการ ผู้สนับสนุน และผู้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจไปถึงการค้ามนุษย์ เพราะมีการผลิตเด็กเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพบมีการเอามาเลี้ยงเป็นตัวอ่อน บางทีตัวอ่อนมาจากการส่งน้ำเชื้อจากต่างแดน และมาฝังตัวเป็นตัวอ่อนในประเทศไทย และมีการดูแลจนกระทั่งตั้งครรภ์ออกมา และนำเด็กไปไว้ ณ  ที่แห่งหนึ่ง เพื่อพร้อมส่งออก ซึ่งลักษณะนี้ต้องมีการสอบสวนให้กระจ่างชัดว่า มาจากพ่อแม่ที่แท้จริง หรือมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น ซึ่งกระทบต่อมนุษยชาติ กระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อต่างชาติ เพราะจะมองว่าไทยเป็นแหล่งการทำแบบนี้ได้ จึงต้องเร่งดำเนินการสอบสวนและเอาผิด อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือกับสบส. ว่าอาจต้องมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นปัญหาจะซุกใต้พรมตลอด

นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับสบส. ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแจ้งเบาะแส อย่างเมื่อมีผู้แจ้ง เราก็จะเข้าไปตรวจสอบ ติดตามได้รวดเร็วขึ้น เช่น มีการแฝงตัวเข้าไป ทุกวันนี้เรามาเจอเด็กที่ออกมาแล้ว ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในการจัดสถานที่ดูแลเด็ก ซึ่งเด็กยังอยู่ในการคุ้มครองเราอยู่ โดยมีพยานที่เป็นแม่อุ้มบุญเอง เพราะเกิดความรักความผูกพัน และเป็นพยานสำคัญในการขยายผลได้ ซึ่งปัจจุบันมีเคสอุ้มบุญและอยู่ในการดำเนินการประมาณ 19 ราย ซึ่งอยู่ในโซนเอเชีย  แต่ขอไม่เอ่ยชื่อประเทศ

เมื่อถามว่าคดี  2 คดีนี้เป็นต่างชาติหรือคนไทย นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า  ผู้จ้างวานเป็นชาวต่างชาติ และบางแห่งฝังตัวอ่อนในบ้านเรา บางแห่งก็ฝังตัวอ่อนจากเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้เราจะจับกุม อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

เมื่อถามว่าผู้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดครั้งนี้ เป็นแพทย์ไทยใช่หรือไม่  นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังสอบสวนอยู่ ก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แต่อาจจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่ก็ได้ ขอเวลาจะมีการเปิดเผยแน่นอน กรณีนี้เกิดมาหลายปี และในภาวะที่เป็นโควิดก็ทำให้แม่ที่อุ้มบุญและต้องเดินทางไปต่างประเทศลำบาก เราจึงตรวจสอบได้ง่าย ตอนนี้เด็กคลอดมาแล้วเลี้ยงจนโตประมาณ 1-2 ขวบ ซึ่งอยู่ในการดูแลของเรา อย่างไรก็ตาม โทษของการกระทำความผิดนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะมีโทษทางอาญา ทั้งปรับและจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี  เร็วๆนี้ เราจะมีการแจ้งและเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิด โดยจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ถึงการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำงานมีประสิทธิภาพ การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามารักษา เพราะการมีบุตรยากถือเป็นโรค ดังนั้น หากทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน คนต่างชาติก็จะสามารถลงทะเบียนรับบริการอย่างถูกกฎหมายได้

เมื่อถามว่า การแก้กฎหมายอุ้มบุญจะเปลี่ยนจากเดิมอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า เดิมคนต่างชาติจะมาอุ้มบุญต้องมีสามีหรือภรรยาเป็นคนไทย ทำให้เป็นอุปสรรค อย่างเขาเป็นครอบครัวต่างชาติแต่มีภาวะบุตรยาก ทำให้เขาต้องมาจ้างวาน กลายเป็นปัญหา ซึ่งเราควรปรับกฎหมายเพราะการไม่มีลูก จัดเป็นภาวะโรคหนึ่ง และไทยมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้ก็จะปรับแก้โดยสามีภรรยาต่างชาติมาขอดำเนินการอุ้มบุญได้ในอนาคต ส่วนคนจะมาอุ้มบุญจะเป็นรายละเอียด เช่น อาจเป็นญาติของเขา หรือคนที่จะมาอุ้มจะเป็นคนไทย แต่กรณีคนไทยที่จะรับอุ้มบุญถูกกฎหมายนั้น จะต้องมีการคัดเลือก มีเกณฑ์ชัดเจน และอาจต้องขึ้นทะเบียน ตรงนี้เรากำลังพิจารณาหารือก่อนว่า จะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร ขณะนี้กฎหมายอยู่ในชั้นฟังความคิดเห็น โดยปีนี้จะมีการเสนอการแก้กฎหมาย

เมื่อถามว่ากรณีสาวโสดจะมารับอุ้มบุญได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังต้องเป็นคู่สามีภรรยา ไม่ใช่สาวโสดคนเดียว แต่ก็มีการเสนออยู่ว่า หากกรณีเป็นเพศสภาพเดียวกันจะทำได้หรือไม่ เราก็ต้องพิจารณาอยู่ว่า จะทำได้หรือไม่ เพราะจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีก ส่วนคนมาอุ้มบุญก็ยังใช้เกณฑ์เดิม ต้องเป็นคนที่เคยมีลูกมาก่อน เพราะจะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนด้วย

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสบส. กล่าวว่า ทางกรมฯได้รวบรวมข้อมูลการให้บริการด้านเทศโนโลยีช่วยการเจริยพันธ์ทางการแพทย์ของไทย พบว่า มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงถึง ร้อยละ 45 มีการให้บริการเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา ,มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ.มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และ มีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้การตั้งครรภ์แทน หรือ อุ้มบุญ 584 คน สร้างรายได้กว่า 4,500 ล้านบาท

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org