กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเผยกรณีตำรวจสืบขยายผลปมอุ้มเหยื่อชาวจีนเรียกค่าไถ่ พบข้อสงสัยเชื่อมโยงรับจ้างอุ้มบุญในไทย ชี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ ตัดพ้อไทยถูกตราหน้ามดลูกของโลก
เมื่อวันที่ 12 เมษายน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสืบขยายผลกรณีอุ้มเหยื่อชาวจีนเรียกค่าไถ่ จนพบข้อสงสัยเชื่อมโยงขบวนการรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทย ว่า เรื่องนี้ทาง สบส. ก็ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งอยู่ในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของสถานพยาบาลที่รับดำเนินการเรื่องนี้ได้ว่าเป็นสถานพยาบาลที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้ หรือเป็นสถานพยาบาลใด หรือมีแพทย์ บุคลากรการแพทย์เกี่ยวข้องอย่างไร
ตัดพ้อไทยถูกอ้างมดลูกโลก ทั้งที่พบปัญหาไม่มาก
เมื่อถามว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีคดีลักลอบอุ้มบุญมาตลอด แต่ปัญหาก็ไม่ได้หายไปไหน ทำให้เราก้าวไม่พ้นการถูกตราหน้าว่าเป็นมดลูกของโลก ทพ.อาคม กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 (กฎหมายอุ้มบุญ) มีการควบคุมป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีที่มีการกระทำผิดนั้นถือว่าไม่มาก แต่พอเป็นข่าวก็เป็นข่าวคึกโครม เลยถูกมองในเรื่องนี้ได้ ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวออกมาจนถึงปัจจุบันมีเคยที่สบส. ส่งเรื่องถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีประมาณ 40 คดีมีทั้งเรื่องการโฆษณาขายไข่ ขายอสุจิ กรณีพบเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญถูกทอดทิ้ง ราวๆ 10 ราย ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั้งนี้ที่มีปัญหามากสุดคือการโฆษณาขายไข่ ขายอสุจิส่วนสถานพยาบาล หรือบุคลากรการแพทย์ที่รับทำ ตอนหลังจะพบว่ามีการบินออกไปทำหัตถการในต่างประเทศมากกว่าเพื่อเลี่ยงกฎหมาย
“เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของการสมประโยชน์ คนรับจ้างอุ้มบุญก็ได้ค่าจ้าง 3 - 5 แสนบาท หมอ สถานพยาบาลก็ได้ด้วยทำให้ไม่มีการร้องเรียนเข้ามา เราจะรู้ก็เมื่อมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา หรือการพบเด็กถูกทิ้ง หรือมีลักษณะทางกายภาพเช่น สีผิว สีตา แตกต่างจากมารดาที่อุ้มท้องมา ซึ่งเราก็ไม่รู้จุดประสงค์คนที่มาจ้างคนอุ้มบุญแทน ว่าต้องการเด็กไปเพื่อเป็นลูกจริงๆ หรือต้องการไปเพื่อผลประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น เป็นธนาคารเลือด อวัยวะ” ทพ.อาคม กล่าว
แก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ
ทพ.อาคม กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรากำลังแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ ซึ่งมีสาระสำคัญหลายๆ ในเรื่องของการรับจ้างอุ้มบุญนั้นไม่อนุญาตให้ทำได้แน่ๆ เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กที่เกิดมา แต่เราจะมีการอนุญาตให้คู่สามี ภรรยา ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรส และประเทศต้นทางให้การรับรองสามารถมาทำการอุ้มบุญได้ รวมถึงการอนุญาตให้คู่ชาย-ชาย คู่หญิง-หญิง ที่ต้องการมีลูกสามารถมาใช้เทคโนโลยีนี้ได้ โดยผู้ที่จะทำการอุ้มบุญต้องมีคุณลักษณะตามที่กำหนด และใช้ไข่ หรือเซลล์ของคู่นั้นๆ มาทำการอุ้มบุญ ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดว่าคนที่จะอุ้มบุญนั้นต้องเป็นญาติของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่มีญาติ แต่ก็มีข้อกังวลว่าจะมีช่องว่างให้เกิดการรับจ้างอุ้มบุญหรือไม่นั้น ตรงนี้มีการรับกฎหมายให้แพทย์เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่การยื่นขออนุญาตทำหัตถการอุ้มบุญเป็นรายกรณีจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
- 311 views