กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยกรณีโรงพยาบาล คลินิกเอกชนโฆษณาอ้างนำ “แพทย์ต่างประเทศ” มีความเชี่ยวชาญมาให้บริการ ชี้ต้องมีการขออนุญาตแพทยสภา ปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนด หากไม่ทำผิดพรบ.วิชาชีพเวชกรรมและสถานพยาบาลฯ ด้าน แพทยสภา ชี้ทำได้เฉพาะให้ความรู้ หรือบรรยาย หากจะรักษาต่อผู้ป่วย มีขั้นตอนเกณฑ์ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำไม่ได้!
เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิกเอกชนโฆษณาอ้างว่ามีการนำแพทย์จากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา หรือผ่าตัดที่ประเทศไทย ว่า จากการที่ สบส.ได้ประชุมร่วมกับแพทยสภา ทำความเข้าใจประเด็นที่แพทย์ต่างชาติ สามารถเข้ามาปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมในไทยได้ ซึ่งการเข้ามาจะต้องได้รับการอนุญาตจากแพทยสภาก่อน เบื้องต้นก็จะมีเกณฑ์สำหรับการเข้ามาเพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้กับแพทย์ในไทย แต่ยังไม่สามารถเข้ามาให้บริการกับประชาชนได้ นอกจากนั้น ทางแพทยสภาก็ได้ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาเป็นการอนุญาตให้กับหน่วยงานของรัฐ
“เมื่อการประชุมร่วมกับแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สถานเสริมความงามและสถานพยาบาลภาคเอกชนไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค.65 ก็ได้ทำความเข้าใจ ชี้แจงกับภาคเอกชน ขอให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ได้ขออนุญาตก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมและสถานพยาบาลก็จะผิดตามพรบ.สถานพยาบาล” นพ.ธเรศกล่าว
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับแพทย์ต่างสัญชาติจะเข้ามาปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมในไทย จะทำได้กรณีที่เป็นการให้ความรู้ หรือบรรยาย ต่อ "แพทย์" แต่หากเป็นการปรึกษา รักษา และปฏิบัติต่อ "ผู้ป่วย"จะต้องขออนุญาต กฎหมายปัจจุบันทำได้ภายใต้โครงการของราชการเท่านั้น อาทิ คณะแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อถ่ายทอดความรู้ วิชาการ เทคโนโลยีใหม่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ใต้ความรับผิดชอบของราชการเป็นหลัก ซึ่งสามารถขออนุญาตได้ที่แพทยสภา โดยต้องผ่านตรวจสอบคุณสมบัติ และมีราชการรับรอง โดยในการเข้าประเทศมา ต้องมีวีซ่าทำงาน(ไม่ใช่ท่องเที่ยว) มีกระทรวงการต่างประเทศรับรองถูกต้อง มีการเสียภาษีกับกรมสรรพากรถูกต้อง และบางกรณีต้องมีการทำประกันความเสียหายด้วย ทั้งนี้ แพทยสภาจะมีการอนุญาตทุกเดือน เป็นใบอนุญาตชั่วคราว สำหรับแพทย์ต่างชาติโดยเฉพาะ ต่ออายุคราวละ 1 ปี และเป็นการขอภายใต้หน่วยงานของรัฐ ทำงาน ในสถานพยาบาลรัฐเป็นหลัก ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาลเอกชน
“สำหรับกรณีที่แพทย์จากต่างชาติที่เข้าประเทศไทยมาเพื่อมาเปิดการรักษาพยาบาล จะต้องเป็นสัญชาติไทย ทำได้โดยการสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของไทยที่แพทยสภา โดยหลักเกณฑ์นี้จะเหมือนกับทุกประเทศ เช่น แพทย์ไทยไปอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องรับใบอนุญาตประเทศนั้นๆ จึงจะสามารถไปตรวจรักษาได้ เพื่อการคุ้มครองมาตรฐานและความปลอดภัยประชาชนแต่ละประเทศ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายของประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับกรณีเด็กไทยจบการศึกษาแพทย์ในต่างประเทศ สามารถกลับเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพในไทยเพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศได้ เช่นเดียวกับแพทย์ที่จบในประเทศไทย " พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าว
เมื่อถามว่าแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในคลินิกศัลยกรรมเอกชน ทำได้หรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าวว่า หากเป็นแพทย์ต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ถูกต้อง กระทำการรักษาในคลินิก หรือ โรงพยาบาล จะเป็นความผิดตาม พรบ.สถานพยาบาล ของ สบส. เท่ากับหมอเถื่อน จะถูกดำเนินการโดย ฝ่ายกฎหมาย สบส.แจ้งความ และ ตำรวจจะเป็นผู้เข้าจับกุมดำเนินคดี ในกลุ่มนี้แพทยสภาไม่สามารถเข้าไปยึดใบประกอบวิชาชีพได้เนื่องจากแพทย์เหล่านี้ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพตั้งแต่แรก
เมื่อถามย้ำว่าสำหรับคลินิกเอกชนที่จำนำแพทย์ต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ แต่อนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในบางกรณี บางความเชี่ยวชาญ บางพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถอนุญาตได้เนื่องจาก หากนำแพทย์ต่างชาติเข้ามาให้คำปรึกษา รักษาในภาคเอกชนแล้วเกิดความเสียหาย ก็จะไม่สามารถติดตามเพื่อร้องเรียนข้ามประเทศได้ ต่างจากการดำเนินการภายใต้ภาครัฐ โดยหน่วยงานรัฐที่ขอเข้ามา เป็นผู้รับผิดชอบติดตาม ดูแล
ขณะเดียวกันคนไทยที่ไปผ่าตัดต่างประเทศ ตามที่มีหลายแห่งโฆษณา โดยเอเจนซี่ ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวตามความสมัครใจ และต้องรับความเสี่ยงด้วยตนเอง เพราะกฎหมายแพทยสภาไม่สามารถดำเนินการข้ามประเทศเพื่อคุ้มครองท่านได้ ดังนั้นจึงต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 9018 views