กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแพทย์ เภสัชกร พยาบาล 34 คน เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างประกอบพิธี และหลังเดินทางกลับ พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขนาด 20 เตียง ให้บริการตรวจรักษาและบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในที่พักระหว่างแสวงบุญ
วันนี้ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ปี 2565 จำนวน 34 คน ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อม ในการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวงบุญในปีนี้ 3,738 คน
นายแพทย์สุระกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพของชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากในแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญจากทั่วโลกกว่า 3 ล้านคนไปรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธี ซึ่งอาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่ออื่นๆ ได้ง่าย รวมถึงเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคจากสภาพแวดล้อม จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพให้แก่ชาวไทยมุสลิมที่จะไปประกอบพิธี โดยมอบหมายให้ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ จัดระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ก่อนเดินทาง โดยอบรมให้ความรู้ในการดูแลตนเองด้านสุขภาพ ฉีดวัคซีน คัดกรองความเสี่ยง รวมถึงสนับสนุนยาสามัญประจำบ้าน หน้ากากอนามัย และจัดตั้งคลินิกฮัจย์ในสถานบริการสาธารณสุข
นายแพทย์สุระกล่าวต่อว่า ในช่วงระหว่างประกอบพิธี กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์ไปให้การดูแล พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว มีเตียงสำหรับผู้ป่วยใน 20 เตียง ให้บริการตรวจรักษา ทำหัตถการฉุกเฉิน และส่งรักษาต่อ รวมถึงบริการเชิงรุกด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในที่พักของผู้แสวงบุญ และหลังเสร็จสิ้นการแสวงบุญเดินทางกลับภูมิลำเนา ได้จัดบริการคัดกรองความเสี่ยงและเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อต่อเนื่อง
โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายผู้นำกลุ่ม (แซะห์) เข้ารับการฝึกอบรมเป็น อสม.ฮัจย์ ซึ่งในปีนี้มีผู้ผ่านการอบรม 350 คน ช่วยแนะนำการดูแลสุขภาพร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
ทั้งนี้ จากรายงานการให้บริการของสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ในปี 2562 มีผู้ป่วย ที่ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย 37 ราย รับไว้รักษาในสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์ แห่งประเทศไทย 191 ราย สำหรับผู้ป่วยนอกมี 10,040 ราย ส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและอ่อนเพลียจากการเดินทาง ส่วนผู้เสียชีวิตมี 8 ราย ลดลงจากปี 2550 ถึง 8 เท่า โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและภาวะหายใจล้มเหลวเนื่องจากถุงลมโป่งพอง
- 221 views