ปลัด กทม. เผย กทม. เดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนข้อมูลผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเตรียมความพร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ของกรุงเทพมหานครที่สอดคล้องแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ของรัฐบาล ได้แก่ แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 (พ.ศ.2557 – 2560) และจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานครต่อเนื่อง ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561 – 2564) ช่วงขยายเวลาในปี พ.ศ.2565
ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการขยายระยะเวลาการใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 จากเดิมกำหนดปีสุดท้ายของการขับเคลื่อนแผนผู้สูงอายุที่ พ.ศ. 2564 เป็น พ.ศ.2565 และเพื่อให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร มีกรอบทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุต่อเนื่องจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 (พ.ศ.2557 – 2560) รวมทั้งนโยบายและแผนด้านผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานครมาเป็นกรอบการจัดทำแผนฯ ซึ่งแผนฯ ระยะที่ 2 นี้เน้นการร่วมกำหนดเป้าหมายของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกรุงเทพมหานครเพื่อให้นำไปสู่การขับเคลื่อนแผนอย่างบูรณาการ
สำหรับการดำเนินงานจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561 – 2564) ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหลายภาคส่วน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านผู้สูงอายุระดับประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านผู้สูงอายุ อาทิ ผู้แทนจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ผู้แทนจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายด้านผู้สูงอายุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) แกนนำผู้สูงอายุ และภาคเอกชน ซึ่งแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561 – 2564) ดังกล่าว แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมทุกช่วงวัยเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ระบบคุ้มครองสำหรับผู้สูงอายุ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมและการพัฒนาการวิจัย ระบบข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการติดตามประเมินผล อย่างไรก็ตามขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) ของรัฐบาลรวมทั้งการประสานงานเพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุต่อไป
กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักอนามัยได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566 - 2570) ในปีงบประมาณ 2565 และมีการจัดอบรมผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ Care Giver เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียง ให้สามารถคงความแข็งแรงของร่างกายไม่ให้ถดถอยเร็วเกินไปและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในการพัฒนาสมรรถภาพร่างกายเพื่อป้องกันการดูแลระยะยาว (Preventive Long Term care ;PLC) เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ในส่วนของสำนักการแพทย์ มีการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 9 แห่ง ที่ให้บริการแบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ
โดยผู้สูงอายุที่มารับบริการคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ได้รับการคัดกรอง Geriatric Syndrome คัดกรองภาวะสุขภาพ ค้นพบโรคทั้งทางกายและใจในระยะเริ่มแรก และได้รับการดูแลทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ให้การรักษาแบบองค์รวมตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาลที่ผ่านการอบรม ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ทันตแพทย์ นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ มีการนำศาสตร์ด้านแพทย์ทางเลือกมาร่วมบริการ เพื่อลดการใช้ยาในกลุ่มที่ไม่จำเป็น ลดการนัดหมายแพทย์เฉพาะทางอื่นที่ซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งจะมีการขยายการดำเนินงานไปยังโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ป้องกันและชะลอความเสื่อมของร่างกายและจิตใจให้ช้าลงลดภาวการณ์เจ็บป่วยของผู้สูงอายุได้ และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง ลดการเจ็บป่วยและพิการลงในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ รวมถึงแนวทางส่งเสริมสุขภาพของประชาชนก่อนวัยสูงอายุและเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม โดยมีการดำเนินงานโครงการ กทม.ใส่ใจ ผู้สูงวัย หัวใจแกร่ง เป็นโครงการพัฒนาระบบการให้บริการผู้สูงอายุที่มารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้รับการดูแลต่อเนื่องจนถึงที่บ้าน ซึ่งมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (แบบไตรภาคี) ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย และสำนักงานเขต ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในทุกมิติ ทั้งทางด้านสุขภาพ ระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข (โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข) และด้านการดูแลเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงที่อยู่อาศัย (สำนักงานเขต)
อีกทั้งยังมีแผนขยายเครือข่ายหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องทั้งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (โรงพยาบาลวชิรพยาบาล) ร่วมดำเนินการเพื่อให้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางด้านสุขภาพกาย จิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสามารถดำรงชีวิตในบ้าน ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อรองรับประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
-------------
- 1333 views