เปิดข้อมูล 10 อันดับ โรค/กลุ่มโรค ปีงบประมาณ 2564 ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสูงสุด โรคความดันโลหิตสูง เข้ารับบริการ “ผู้ป่วยนอก” มากที่สุด 25.47 ล้านครั้ง จากทั้งหมด 161.71 ล้านครั้ง ขณะที่ภาวะต้องการมาตรการป้องกันโรคโดยการแยกกักตัวและรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับบริการ “ผู้ป่วยใน” สูงสุด 2.68 แสนครั้ง จาก 5.75 ล้านครั้ง

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” สปสช.ได้แยกงบประมาณบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2564 จัดสรรที่จำนวน 177.20 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 3,719.23 บาทต่อคน ในจำนวนนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกำหนดเป็นงบบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 1,280.01 บาทต่อคน และงบบริการผู้ป่วยในจำนวน 1,440.03 บาทต่อคน สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.64 ล้านคน

รายงานผลการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 พบว่าการรับบริการผู้ป่วยนอกจาก 111.95 ล้านครั้งในปีงบประมาณ 2546 เพิ่มเป็น 161.71 ล้านครั้ง คิดเป็นอัตราเฉลี่ยจาก 2.45 เพิ่มเป็น 3.437 ครั้งต่อคนต่อปี ส่วนการรับบริการผู้ป่วยในจาก 4.30 ล้านครั้ง ในปีงบประมาณ 2546 เพิ่มเป็น 5.75 ล้านครั้ง คิดเป็นอัตราเฉลี่ยจาก 0.094 เป็น 0.122 ครั้งต่อคนต่อปี

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า จากข้อมูลการรับบริการดังกล่าว พบว่าในจำนวนการรับบริการผู้ป่วยนอก 161.71 ล้านครั้ง โรคหรือกลุ่มโรคที่เข้ารับบริการมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีการรับบริการสูงสุดจำนวน 25.47 ล้านครั้ง รองลงมาก ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินจำนวน 13.84 ล้านครั้ง ความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไลโปโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่นหรือไขมันในเลือดผิดปกติจำนวน 11.24 ล้านครั้ง โรคไตวายเรื้อรังจำนวน 5.47 ล้านครั้ง เยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลันหรือโรคหวัดจำนวน 5.13 ล้านครั้ง ความผิดปกติแบบอื่นของเนื้อเยื่ออ่อน ปวดกล้ามเนื้อจำนวน 4.16 ล้านครั้ง โรคกระเพาะอาหารจำนวน 3.21 ล้านครั้ง ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกอื่นจำนวน 2.73 ล้านครั้ง โรคฟันผุจำนวน 2.72 ล้านครั้ง และเวียนศีรษะ วิงเวียน จำนวน 2.20 ล้านครั้ง

ส่วนการรับบริการผู้ป่วยในจำนวน 5.75 ล้านครั้ง โรคหรือกลุ่มโรคที่เข้ารักษาโดยนอนในโรงพยาบาลระบบบัตรทองสูงสุด 10 อันดับแรก คือ ภาวะต้องการมาตรการป้องกันโรคโดยการแยกกักตัวและรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 (Need for other prophylactic measures) มีการรับบริการมากที่สุดจำนวน 2.68 แสนครั้ง รองลงมา ได้แก่ ปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัสจำนวน 2.28 แสนครั้ง ทารกปกติที่คลอดในโรงพยาบาล (Liveborn infants according to place of birth) จำนวน 2.25 แสนครั้ง

กระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบและลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ และจากสาเหตุที่ไม่ระบุ จำนวน 1.92 แสนครั้ง โรคปอดบวมไม่ระบุเชื้อต้นเหตุ จำนวน 1.45 แสนครั้ง โรคไตวายเรื้อรัง 1.21 แสนครั้ง มารดาคลอดธรรมชาติ (ครรภ์เดี่ยว) จำนวน 1.08 แสนครั้ง ภาวะหัวใจล้มเหลว จำนวน 1.08 แสนครั้ง โรคธาลัสซีเมีย จำนวน 1.03 แสนครั้ง และการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ จำนวน 9.76 หมื่นครั้ง

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับบริการเท่านั้น ซึ่งกองทุนบัตรทองได้ดูแลให้ประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาได้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยและครอบครัว แม้แต่ในภาวะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยโรคต่างๆ เหล่านี้ยังคงได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันข้อมูลที่ปรากฏนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ในการใช้เป็นฐานข้อมูลที่นำไปสู่การวางแผนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเหล่านี้ มุ่งลดจำนวนผู้ป่วยเพื่อให้ประชากรไทยมีสุขภาพที่ดี และลดภาระค่ารักษาพยาบาลของประเทศในอนาคตต่อไป  

ดูรายงานผลการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 ดังนี้

1. เว็บไซต์ สปสช. : https://www.nhso.go.th/operating_results/50
2. YouTube : https://youtu.be/rXntM7S38ao
3. E-book : https://media.nhso.go.th/assets/portals/1/ebookcategory/162_NHSO-Annual-Report-2021/NHSO-Annual-Report-2021/#page=1

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso