ศบค.เห็นชอบพื้นที่สีเขียว 14 จังหวัด และสีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด  อนุญาตเปิด “ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด” รวม 31 จังหวัดภายใต้เงื่อนไข  เปิดบริการ นั่งดื่มไม่เกิน 24.00 น. ร้านค้าสถานบันเทิงต้องลงทะเบียนผ่านการอนุมัติจากคกก.โรคติดต่อจังหวัด/กทม.  ห้ามบุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์เข้าใช้บริการ ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ขอให้หลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่ พร้อมปรับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงไม่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ให้สังเกตอาการได้ 10 วัน 

 

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)  แถลงรายละเอียดการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 8/2565 ว่า   รายงานสถานการณ์ติดเชื้อวันนี้ 6,463 ราย หายป่วยมากกว่า 7,091 ราย เสียชีวิต 41 คน รักษาตัว 5.8 หมื่นราย อย่างไรก็ตาม ระลอกการติดเชื้อของเม.ย.64 และม.ค.2565 ตัวเลขสูงกว่า แต่ทิศทางขาลงลงมาก เช่นเดียวกับการเสียชีวิตน้อยกว่าปี 64 ดูแล้วทิศทางไปในทางบวก  ขณะที่การเสียชีวิตต่ำกว่าเส้นสีเขียวที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เมื่อเทียบกับมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่จะนำไปสู่โรคประจำถิ่น จะเห็นว่าขยับมาเร็วกว่าเดิมประมาณ 2 สัปดาห์ เห็นได้ว่าเส้นระยะที่ 3 จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึงต้น มิ.ย.65 เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งยังคงวันที่ 1 ก.ค.2565 ไว้ก่อน ก็ต้องดูมาตรการผ่อนคลายที่เพิ่งดำเนินการ ทั้งการเปิดเรียนที่เพิ่งเริ่ม ทั้งหมดต้องช่วยกัน รวมทั้งจะมีการเปิดสถานบันเทิงต่างๆ ก็จะเป็นตัวแปร หากเป็นไปได้อย่างดีก็จะทำให้ 1 ก.ค. เกิดขึ้นได้จริง

“ ที่ประชุม ศบค. ยังเห็นชอบผ่อนคลายแนวทางการจัดการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด จากเดิมถ้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ กลายเป็นผู้เสี่ยงสูงต้องกักตัว 5 วันอยู่ในบ้าน และ 5 วันที่เหลือไปทำงานได้ แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้วให้สังเกตอาการได้ 10 วัน หมายความว่าไปทำงานได้ อยู่ในสังคมได้ แต่ต้องระวังตัวเอง หากมีอาการต้องไปตรวจ” โฆษก ศบค. กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพิจารณา โดยเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอ ศบค.ในการพิจารณาปรับพื้นที่สี โดย ณ ตอนนี้ 1 พ.ค.2565 มี 2 พื้นที่ คือ สีเหลือง และสีฟ้า แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 จะเพิ่มพื้นที่ฟ้า สีเขียว  โดยสีเขียวดูตามความพร้อมของจังหวัด ที่เสนอมาว่าจะเป็นจังหวัดนำร่องในการควบคุมโรค และปรับตัวเข้าโรคประจำถิ่นได้อย่างเร็ว  ทำให้พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือสีเหลือง จาก 65 จังหวัด เป็น 46 จังหวัด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียวจากเดิมไม่มี พิ่มเป็น 14 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยวจาก 12 จังหวัด เป็น 17 จังหวัด

สำหรับไฮไลท์ที่สีเขียว 14 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท พิจิตร อ่างทอง น่าน มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ลำปาง อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ตราด สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี  สีฟ้า 17 จังหวัด ประกอบด้วย  กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)  นอกนั้นอีก 46 จังหวัดเป็นพื้นที่สีเหลือง

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับข้อแตกต่าง อย่างพื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) การจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 1 พันคน ส่วนพื้นที่สีเขียว ตามความเหมาะสม  ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับ พื้นที่สีเหลืองให้ใช้อาคารสถานที่ จัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ส่วนสีเขียวให้ใช้ได้ตามปกติ ขณะที่สถานที่เล่นกีฬา สนามกีฬา ลานกีฬา สระน้ำ หรือสถานที่จัดแข่งขันกีฬา พื้นที่สีเหลืองเปิดได้บริการตามปกติ และจัดการแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม อย่างกีฬาในร่วมผู้ชมไม่เกิน 75%  กีฬากลางแจ้ง ผู้ชมตามความจุสนาม และมาตรการเว้นระยะห่าง ส่วนพื้นที่สีเขียวเปิดได้ตามปกติตามมาตรการที่กำหนด  ขณะที่โรงภาพยนต์ โรงมหรสพ ทั้งพื้นที่สีเหลืองและสีเขียวเปิดได้ตามปกติ  

“ประเด็นสำคัญคือ การเปิดสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน  เปิดได้ 2 พื้นที่ คือ สีฟ้า และสีเขียว  โดยเริ่มวันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป โดยเวลาในการเปิดบริการ จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องไม่เกิน 24.00 น. คือ เปิดได้ถึงเที่ยงคืน แม้ร้านเลิกแล้ว คนจะนั่งดื่มต่อไม่ได้ หากของเหลือให้หอบหิ้วกลับไปบริโภคที่บ้าน โดยหลังเที่ยงคืนจะไม่มีการเปิดร้าน นั่งดื่มอีก ที่สำคัญต้องงดการใช้แก้วร่วมกัน และกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสตัว เช่น  อาบ อบ นวด ต้องสวมหน้ากากอนามัย” โฆษก ศบค. กล่าว

นอกจากนี้ผู้ให้บริการ ต้องได้รับวัคซีนโควิดตามเกณฑ์ รวมทั้งเข็มกระตุ้น และต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงของพนักงานทุกวัน ต้องมีการประเมิน มีการตรวจ ATK ทุก 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ มีความเสี่ยง และขอให้ถือปฏิบัติมาตรการ Universal Prevention (UP) ส่วนผู้รับบริการเพียงโชว์ว่าได้รับวัคซีนก็เข้าได้ แต่กลุ่มเสี่ยง 608 ขอให้งดการเข้าพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานประกอบการจะต้องขออนุญาตการเปิดดำเนินงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร และประเมินตัวเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID+2  และปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting  ตลอดจนพนักงานต้องได้รับการกำกับดูแลตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด  ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก หากท่านทำได้ดีอย่างเคร่งครัดจะทำให้การติดเชื้อลดลง ก็จะสนับสนุนให้เปิดบริการต่อไป นอกจากนี้ ให้มท. กทม. สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ประเมิน อนุญาต และติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด โดยอนุญาตให้เปิดดำเนินการเฉพาะสถานบันเทิงที่ขึ้นทะเบียนสถานบริการ และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. เท่านั้น

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 

-ศบค. ผ่อนคลายเปิด “ผับ บาร์ คาราโอเกะ” 1 มิ.ย. นี้

-ศบค.ยกเลิก Thailand Pass คนไทยเข้าประเทศ  คงไว้ต่างชาติเท่านั้น

-ศบค.ชื่นชม 16 จ. ฉีดวัคซีนได้ดี พร้อมเร่งเก็บตก "คนยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19"

-“อนุทิน” ชี้แม้ผ่อนคลายมาตรการ เปิด “ผับบาร์ - คาราโอเกะ” แต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย   

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org