ปัญหาสายตาผิดปกติในเด็ก เป็นประเด็นปัญหาสุขภาพที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นตาให้แก่เด็กไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การตรวจคัดกรองสายตาให้กับเด็กถือเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพอยู่แล้ว เพียงแต่การจ่ายชดเชยค่าบริการตรวจคัดกรองสายตาได้จัดรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว ภาพของการจัดบริการจึงไม่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงอนุมัติให้ปรับเพิ่มการจ่ายชดเชยค่าแว่นตาเด็กออกมาเป็นการเฉพาะหรือจ่ายตามรายการบริการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจัดบริการให้เด็กเข้าถึงแว่นตามากขึ้นนั่นเอง
"ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพ เด็กที่มีสิทธิคือเด็กไทยทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ อายุตั้งแต่ 3-12 ปี ทั้งที่อยู่ในและนอกระบบโรงเรียน มีสิทธิทุกคน เพราะในช่วงวัยนี้ถ้ามีความผิดปกติทางสายตาไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ฯลฯ จะมีปัญหาต่อการเรียนรู้และพัฒนาการ ที่ล่าช้ากว่าปกติ หรืออาจทำให้เด็กไม่อยากเรียนหนังสือและอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะปัญหาการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น" นพ.จักรกริช กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักการแล้วเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตา แต่ในทางปฏิบัติถ้าจะคัดกรองให้ได้ทุกคนอาจจะเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ เนื่องจากระบบบริการสาธารณสุขของไทยยังมีจำนวนจักษุแพทย์ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีการจัดระบบที่สามารถปฏิบัติได้จริงด้วยการตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7-8 แสนคนทั่วประเทศ เหตุที่เลือกตรวจคัดกรองที่ระดับ ป.1 เพราะสื่อสารกันเข้าใจได้มากขึ้น ทำให้ไม่ยากต่อการตรวจคัดกรองสายตา และยังไม่ช้าเกินไปที่จะแก้ไข อย่างไรก็ดี สำหรับเด็กในช่วงอายุอื่นแม้ไม่ได้รับการคัดกรอง แต่หากคุณครูสงสัยว่าสายตาผิดปกติก็สามารถเชิญมาคัดกรองได้เช่นกัน หรือถ้าเด็กเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน หากผู้ปกครองพบความผิดปกติก็พาไปพบจักษุแพทย์หรือไปโรงพยาบาลอำเภอเพื่อตรวจคัดกรองสายตาเบื้องต้นได้เหมือนกัน
นพ.จักรกริช กล่าวต่อไปว่า โครงการตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นให้เด็ก ป.1 ทั่วประเทศนี้ สปสช.ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอีกหลายภาคส่วน เช่น ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานวิชาการที่สนับสนุนความรู้ อบรมเตรียมบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นจักษุแพทย์ พยาบาล รวมทั้งนักทัศนมาตร ต่อมาคือกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขมีทั้งหน่วยวิชาการและหน่วยบริการ หน่วยวิชาการคือกรมอนามัยที่จะขับเคลื่อนให้เด็กประถมศึกษาทุกคนได้รับการคัดกรอง การสนับสนุนสื่อต่างๆและกำกับติดตามประเมินผล จากนั้นก็คือกรมการแพทย์ซึ่งมีโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยในการฝึกอบรมการคัดกรอง และให้คำปรึกษาแก่หน่วยบริการ
"ในระดับพื้นที่ก็มีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ด้านตา ทำหน้าที่บริหารจัดเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ว่าใครจะคัดกรองตรงไหน ส่งต่อมาพบจักษุแพทย์ตรงไหน เพื่อให้การดำเนินงานราบรื่น นอกจากนี้ยังมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในจังหวัด ดำเนินการจัดระบบบูรณาการทั้งครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ รวมทั้งการอบรมครูและพยาบาล" นพ.จักรกริช กล่าว
และอีกหน่วยงานที่สำคัญ ก็คือกระทรวงศึกษาธิการในฐานะเจ้าของพื้นที่ การคัดกรองต้องคัดกรองในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการส่วนกลางทำหน้าที่สื่อสารนโยบายให้โรงเรียนทั้งหลายคัดกรองเด็ก สนับสนุนให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนจัดระบบให้เด็กได้รับการคัดกรอง และต้องมีครูที่ผ่านการอบรมวัดสายตาทำหน้าที่คัดกรองสายตาเด็ก ถ้าพบเด็กมีความผิดปกติทางสายตาก็จะประสานผู้ปกครองเพื่อนำเด็กส่งต่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคัดกรองซ้ำ
อีกส่วนคือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงบริการได้ ในอดีตเด็กที่คัดกรองแล้วมักจะมีปัญหาเรื่องการเดินทางไปพบจักษุแพทย์หรือวัดสายตาที่โรงพยาบาล ดังนั้น ประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็จะมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ (กปท.) มาสนับสนุนการเดินทางไปโรงพยาบาล ทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อวัดสายตา รับแว่นตา และอีกครั้งเพื่อติดตามประเมินการใช้แว่นเมื่อครบ 6 เดือน ซึ่งในเรื่องนี้ทาง สปสช. ได้สื่อสารกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้สื่อสารนโยบายและมีการแจ้งลงไปในระดับพื้นที่แล้ว
ส่วนหน่วยงานหลักในการให้บริการก็คือโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่สำคัญคือโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 150 แห่ง แต่ในโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีจักษุแพทย์ก็จะช่วยทำการคัดกรองซ้ำ เพื่อให้ได้เด็กที่จำเป็นต้องพบจักษุแพทย์จริงๆ แล้วส่งไปพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัด และสุดท้ายคือ สปสช. เขตมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการทั้งหมดนี้และกำกับติดตามว่าพื้นที่ใดเด็กยังไม่ได้รับการคัดกรองและรับแว่นตาบ้าง
ทั้งหมดนี้เห็นได้ว่าโครงการนี้มีการบูรณาการกันหลายหน่วยงานจริงๆ แต่ละหน่วยงานมีบทบาทต่างกันไป แต่ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กชั้น ป.1 ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นให้เด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ ที่สำคัญโครงการนี้บูรณาการช่วยเหลือเด็กที่มีสายตาผิดปกติให้ได้รับแว่นตาต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 12 ปีหรือจนกว่าจะจบชั้นประถมศึกษา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกภาคส่วนจะเริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองเด็กกันแล้ว แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงโควิด-19 ระบาด การคัดกรองเด็กที่อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะอาจมีประเด็นปัญหาเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนั้นถ้าผู้ปกครองพบว่าเด็กที่เรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้านมีความผิดปกติ เช่น หยีตา ปวดหัว อ่านหนังสือหรือจ้องหน้าจอใกล้ๆ เดินชนโต๊ะชนเก้าอี้ ขออย่านิ่งนอนใจสามารถพาเด็กไปพบแพทย์ในหน่วยบริการทุกระดับเพื่อรับการตรวจคัดกรองสายตาและรับการแก้ไขปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน เด็กอาจเกิดภาวะสายตาขี้เกียจหรือตาบอด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 1071 views