คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเตรียมแผนมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 เข้าสู่ “โรคประจำถิ่น” จ่อยกเลิก Thailand Pass เมื่อถึงเวลาเหมาะสม “อนุทิน” ลั่นที่ประชุมเพิ่มมาตรการสอบสวนโรคอย่างละเอียดกรณีกลุ่มฉีดวัคซีนครบ 3 โดสแต่เสียชีวิตจากโควิด ย้ำที่ผ่านมาพบเพียง 7% ส่วนใหญ่เสียชีวิตเป็นกลุ่มสูงอายุ มีโรคร่วม ฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ฝากสื่อสารขอให้มาฉีดบูสเตอร์ ลดอัตราตายได้
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 ว่า ที่ประชุมได้หารือแผนดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และเตียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ Post-pandemic เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 ของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะ Declining มีผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตลดลงเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณืไว้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างล่าสุดการเปิดประเทศที่ผ่านมายกเลิก Test and Go หากนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มก็ไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซึ่งมีผู้เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่า และจะมีการผ่อนปรนมากขึ้น เช่น การยกเลิกระบบ Thailand Pass เมื่อถึงเวลาเหมาะสม
“ขณะนี้เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น คนเดินทางเข้าไทยหลายหมื่นคนต่อวัน มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 10 คน ซึ่งถือเป็นนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ ในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของไทยภาพรวมมากกว่า 134 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 81% เข็มที่สอง 74% เข็มกระตุ้น 38% และอยู่ระหว่างเร่งรัดการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มแรก 84% เข็มที่สอง 80% และเข็มกระตุ้น 42% ซึ่งในเรื่องการฉีดเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดส ต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนบูสเตอร์ด้วย” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมฯ เห็นชอบเพิ่มมาตรการหนึ่ง คือ หากมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม และเสียชีวิตจากโรคโควิดจะดำเนินการสอบสวนโรคอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุ แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้รับวัคซีน 3 เข็ม มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 7% ส่วนผู้รับวัคซีนโควิดครบ 4 เข็มไม่มีอัตราการเสียชีวิตเลย สิ่งสำคัญขอให้กลุ่มเสี่ยง 608 ยิ่งผู้สูงอายุ ยิ่งไม่ได้รับวัคซีนยิ่งเสี่ยง ขอให้มารับวัคซีน โดยเฉพาะบูสเตอร์โดส เนื่องจากผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบว่าได้รับวัคซีนไม่ครบโดส บ้างก็ 1 โดส บ้างก็ 2 โดส ซึ่งไม่เพียงพอ โดยขอให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสมารับบูสเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 โดสตั้งแต่ พ.ค.2564 ที่ผ่านมาให้มารับบูสเตอร์
เมื่อถามว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มแต่เสียชีวิตจากโควิด มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยอะไร นายอนุทิน กล่าวว่า มีโรคประจำตัวร่วม หรือมีอายุมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อีกทั้ง การสอบสวนโรคครั้งนี้ เราจะเน้นไปที่เสียชีวิตจากโควิด (Dead From Covid-19) เพราะหากเสียชีวิตจากปัจจัยอื่น อย่างอุบัติเหตุ ก็ไม่ใช่
“การเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่อยากให้เน้นว่า ต้องเวลาไหน เมื่อไหร่ เพราะตอนนี้เรากำลังทำสิ่งต่างๆ เพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญขอให้ยังปฏิบัติตัวป้องกันตนเอง และใส่หน้ากากอนามัยเช่นเดิม ซึ่งข้อดีอย่างคือ คนไทยยังใส่หน้ากากอนามัย แต่ต่างชาติที่มาก็ไม่ค่อยใส่กันนัก
เมื่อถามว่าแนวโน้มการเป็นโรคประจำถิ่นจะขยับขึ้นมาได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปเน้น เพราะหากเทียบสงกรานต์ปีนี้กับปีที่แล้ว พบว่าปีนี้ทุกคนเดินทางได้ มีความสุขมากขึ้น ร้านค้าได้ขายของ แต่ที่สำคัญคือคนไทยยังสวมหน้ากากอนามัยอยู่เป็นเรื่องที่ต้องปลื้มใจ อย่างไรก็ตาม หากเราพบเห็นชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมากขึ้น แต่หย่อนมาตรการหน้ากากอนามัย เราก็ต้องเตือน ซึ่งตรงนี้อาจต้องมีมาตรการดูแล แต่หากเรามองในแง่ของเรื่องเศรษฐกิจก็เป็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ทำให้ประเทศไทยมีชีวิตชีวามากขึ้น
“ตอนนี้ไม่ใช่การควบคุมโรค เป็นการควบคุมพฤติกรรม สังเกตคนรอบข้างให้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจะมอบให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัยให้ดูเรื่องนี้” นายอนุทินกล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 409 views