นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอแนะให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ภายหลังที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด-19 เห็นชอบประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ สอดคล้องสถานการณ์โลก รวมถึงสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ ใส่เครื่องหายใจ และผู้เสียชีวิตในประเทศ มีแนวโน้มที่ลดลง ทำให้ขณะนี้มีจังหวัดที่เข้าสู่ระยะทรงตัว (Plateau) แล้ว 23 จังหวัด และจังหวัดที่สถานการณ์ดีขึ้นอยู่ในระยะขาลง (Declining) 54 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ให้ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ โดยเน้นให้ประชาชนทุกคน ต้องปฏิบัติตาม มาตรการ 2U คือ Universal Prevention ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต่อไป
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการที่จัดบริการให้ผู้มีสิทธิจำนวน 144,252.95 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 101.33 จากงบประมาณ 142,364.82 ล้านบาท มีประชากรไทยผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 47.74 ล้านคน ได้ลงทะเบียนสิทธิเพื่อเลือกหน่วยบริการประจำตน จำนวน 47.56 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 99.61 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนให้บริการผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 14,549 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2,304 แห่ง
สำหรับผลงานการให้บริการ ประกอบด้วย บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป มีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนบริการเฉพาะกลุ่ม นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ เข้ารับยาต้านไวรัสสูงกว่าเป้าหมาย จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการล้างไต ฟอกไต ปลูกถ่ายไต สูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งในส่วนของผลงานที่ต่ำกว่าเป้าหมายนั้น เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิวิถีใหม่ที่เน้นการจัดบริการนอกหน่วยบริการเพื่อลดความแออัด และพบว่าประชาชนพึงพอใจต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 97.07 พึงพอใจผู้ให้บริการร้อยละ 80.94 และองค์กรภาคีร้อยละ 92.27 นอกจากนี้ยังมีประชาชนสอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ และประสานส่งต่อผู้ป่วยผ่านช่องทางต่างๆจำนวน 2,585,915 เรื่อง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด 19 จำนวน 642,700 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 24.85
ส่วนความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะต่อไป คือ การพัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ, การปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และการเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้ระบบสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องมีความพร้อมและยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาระบบบริการที่เหมาะสม คุ้มค่า และสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่, การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบปฏิบัติการขนาดใหญ่(Big Data) และการเพิ่มความเข้มแข็งในระบบบริการปฐมภูมิและบริการสุขภาพชุมชน พร้อมเร่งรัดและปรับระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด
นอกจากนี้ครม.ยังรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ้นสุดปีงบประมาณ 2563 วันที่ 30 กันยายน 2563 มีรายได้ปี 2563 รวม 148,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 6,489 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 146,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,160 ล้านบาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 2,414 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 14,395 ล้านบาท ลดลง 4,563 ล้านบาท หนี้สินรวม 7,402 ล้านบาท ลดลง 6,978 ล้านบาท รวมสินทรัพย์สุทธิ 6,993 ล้านบาท
- 162 views