กระทรวงสาธารณสุข จับมือ กระทรวงศึกษาธิการ จัดมาตรการรองรับโรงเรียนเปิดเทอมแบบออนไซต์ 17 พ.ค.65  ย้ำไม่ต้องตรวจ ATK บ่อยทุก 3-5 วัน เน้นตรวจกลุ่มจำเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมออกแนวทางปฏิบัติ ครู นักเรียน บุคลากรสถานศึกษาทั้งแบบประจำ และไปกลับ หาก “ติดเชื้อ – เสี่ยงสูง” เรียนได้ตามปกติแบบมีเงื่อนไข ต้องฉีดวัคซีนครบ และไม่มีอาการ

 

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมชี้แจงการเตรียมพร้อมเปิดเรียน On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19 ในสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมประชุมดังกล่าว

 

นายสาธิต กล่าวว่า  สถานการณ์โควิดขณะนี้แนวโน้มเริ่มลดลง ซึ่งสอดรับกับการที่ประเทศไทยตั้งเป้าเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่น  ซึ่งหลายภาคส่วนก็เริ่มผ่อนคลาย แต่มีมาตรการเข้มในการรับมือ โดยเฉพาะการเปิดเรียนรูปแบบออนไซต์ (On-Site) ซึ่งจะเปิดกลางเดือน พ.ค.นี้ โดยขอย้ำมาตรการ 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยสถานศึกษา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยให้เปิดบริการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 60%  โดยการฉีดแบ่งเป็นเด็กอายุ 5-11 ปี   ซึ่งสถานศึกษาต้องเร่งสำรวจเด็กที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน  หรือการเข้ารับวัคซีนเข็ม 2 ให้ครอบคลุม   ส่วนเด็กอายุ 12-18 ปี เป็นการฉีดบูสเตอร์ หรือเข็มกระตุ้น

 

2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่าร้อยละ 95 ส่วนเรื่องการตรวจเชื้อ ATK กรมอนามัยได้มีการหารือกับศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว  ขอให้เป็นการตรวจเชื้อ  ในรูปแบบ เฝ้าระวังอย่างเหมาะสมเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง หรือเมื่อมีอาการเท่านั้น จากเดิมตรวจ 3-5 วัน  3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง   ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน และ 4.เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง   

 

 

ด้านนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมพร้อมมาตรการการเปิดเรียนแบบออนไซต์  โดยเป็นโรงเรียนที่มาจากหลายสังกัดรวมแล้วกว่า 3 หมื่นแห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. 29,200 แห่ง โรงเรียนสังกัดเอกชน 4,100 แห่ง และโรงเรียนสังกัดอื่นๆ อาทิ สังกัดท้องถิ่น สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ อีกราว 1,800 แห่ง  ซึ่งมีความพร้อมจะเปิดเรียน 90% ในวันที่ 17 พ.ค.นี้

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  สำหรับมาตรการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียน ในเรื่องการฉีดวัคซีนนักเรียนอายุ 12-17 ปี ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น(เข็ม 3) ผ่านระบบสถานศึกษา และเร่งฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาในกลุ่มเด็กมัธยม มีการฉีดทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ไม่น้อยกว่า 70% แต่การกระตุ้นเข็ม 3 ยังอยู่ในอัตราต้องเร่งรัด เพราะตอนนี้ยังไม่ถึง 6% จึงต้องเร่งดำเนินการให้เพิ่มขึ้น  ส่วนเด็กประถมศึกษาอายุ 5-11 ปี ข้อมูลการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อยู่ที่ 53%  ส่วนเข็ม 2 อยู่ที่ประมาณ 13%  แต่ข้อมูลล่าสุดอาจมากกว่านี้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนจึงขอให้เน้นฉีดเข็มกระตุ้นในเด็กมัธยม แต่เด็กประถมแม้จะเป็นเรื่องความสมัครใจ แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครอง เพื่อให้ตัดสินใจเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีนักเรียนมีการติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็จะมีแผนเผชิญเหตุในการรองรับ ซึ่งขอให้ทุกจังหวัดได้ศึกษาการดำเนินการเรื่องนี้ แบ่งเป็น

 

-มาตรการการเปิดเรียนในโรงเรียนประจำ เน้นแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้โซน   แบ่งเป็น

 

*กรณีนักเรียน ครูเป็นผู้ติดเชื้อ กรณีไม่มีอาการ จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมเว้นระยะหว่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดกิจกรรมรวมกลุ่ม เน้นการระบายอากาศ

 

* กรณีครู นักเรียน หรือบุคลกร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เรียนได้ตามปกติ จัดระยะห่างระหว่างนักเรียนไม่น้อยกว่า 1 เมตร

 

*กรณีสัมผัสเสี่ยงสูง  หากไม่ได้รับวัคซีน ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแนะนำให้กักตัวเป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน  กรณีได้รับวัคซีนโควิด ไม่แนะนำกักกัน ตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการตรวจทันที ให้ตรวจครั้งที่ 1วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อและตรวจครั้งสุดท้ายวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ

 

-มาตรการเปิดเรียนออนไซต์ อยู่กับโควิดโรงเรียนไป-กลับ

 

*กรณีนักเรียนครู หรือบุคลากรติดเชื้อ แยกกักตัวที่บ้าน  หรือพิจารณาจัดทำ School Isolation โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด จัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีอาการ ทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษา และเปิดเรียนตามปกติ

 

*กรณีครู นักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เรียนในสถานศึกษาได้ตามปกติ เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร

 

* กรณีสัมผัสเสี่ยงสูง กรณีไม่ได้รับวัคซีนโควิดตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแนะนำให้กักตัวเป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนครบตามคำแนะนำในปัจจุบัน ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน และพิจารณาให้ไปเรียนได้ โดยมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการให้ตรวจทันที ให้ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และตรวจครั้งสุดท้าย วันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร และประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบงานอนามัยโรงเรียน

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรคส่งไฟเซอร์ฝาม่วง 6 พ.ค.รองรับกลุ่มอายุ 12-17 ปี รองรับนักเรียนเปิดเทอม