Covid Forum ถกประเด็น ติดโควิด-19 ทำอย่างไร? สปสช.ยืนยัน 1330 “รับทุกสิทธิ ทุกสาย” ชูแนวคิด ดูแลตัวเองเหมือนไข้หวัดใหญ่
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “เมื่อโควิดไม่ใช่เรื่องไกลตัว ติดแล้วทำอย่างไร ?”
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า กรมสบส.มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลโควิด-19 ในหลายบทบาท ตั้งแต่ควบคุม ป้องกัน และรักษา โดยเรามีกำลังจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) กว่า 1.05 ล้านคนทั่วประเทศที่เป็นกลไกสำคัญในการแนะนำประชาชนดูแลตนเอง เชิญชวนฉีดวัคซีน และการตรวจ ATK
ขณะที่ด้านการรักษา สบส.ได้ดูแลเรื่องยูเซ็ปพลัส(UCEP Plus) ภายใต้พระราชบัญญัติ(พรบ.)สถานพยาบาล ที่ขอความร่วมมือกับสถานพยาบาล โรงพยาบาล(รพ.) เอกชนในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในภาวะฉุกเฉิน คือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีแดงและกลุ่มเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง สธ. ได้เร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะการฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรั้งและหญิงตั้งครรภ์
เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อได้ ด้านการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด มีแนวทางรักษาโดยกรมการแพทย์ สำหรับผู้ติดเชื้ออาการน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการได้ เนื่องจากยาบางตัวมีข้อบ่งชี้ในการใช้ แต่ยืนยันว่ายาไม่มีความขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยรอบด้าน เราจึงขอฝากถึงผู้ที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ให้ลดความเสี่ยงของตนเองก่อนเดินทาง เลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยง เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อแล้วนำเชื้อไปสู่ผู้ใหญ่ที่เรารัก และเพื่อให้เป็นสงกรานต์ที่มีความสุขและปลอดภัย
นพ.ฆนัท กล่าวว่า ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีส่วนช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างมาก สถิติล่าสุดพบว่า การติดเชื้อในฝั่งเอเชียเริ่มแซงยุโรป อเมริการแล้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าหลังจากที่มีการติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ก็ทำให้ประชากรมีภูมิคุ้นกันมากขึ้น ตรงนี้จึงทำให้เห็นได้ว่า “โควิดใกล้ตัวเรามากขึ้น” เทียบเหมือนกับโรคไข้หวัดที่เรามีโอกาสเป็นได้ทุกปี
ทั้งนี้ สธ.และหน่วยงานทุกภาคส่วน ได้เร่งการฉีดวัคซีนโควิดต่อเนื่อง แต่ต้องเน้นย้ำว่าวัคซีนในปัจจุบันพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อู่ฮั่น และอยู่ระหว่างการศึกษาวัคซีนตัวใหม่ๆ คาดว่าเร็วที่สุดจะออกมาใน 2-3 เดือนนี้
ดังนั้น ระหว่างนี้แม้เราฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังต้องระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพื่อเลี่ยงการเกิดอาการลองโควิด(Long Covid-19) ทั้งนี้ ทางสมาคมสมาพันธ์ฯ มีหลายโครงการช่วยเหลือช่วงโควิด เช่น โควิดโฮมแคร์(Covid-19 Home Care) เพื่อส่งชุดอุปกรณ์ดูแลตนเอง ยา และเวชภัณฑ์ให้ประชาชน
“สำหรับการโทรหาสายด่วน 1330 เราเข้าใจความร้อนใจของประชาชน แต่ด้วยอัตราสายโทรเข้าไปมาก เจ้าหน้าที่ก็อาจจะรับสายไม่ทัน แต่ต้องเรียนว่าสำหรับโอมิครอนที่อัตราเสียชีวิตน้อยกว่าเดลต้า 1-2% เหลือ 0.1-0.2% ลดลงกว่า 10 เท่า แต่การเสียชีวิตยังอยู่ในเสี่ยง 608 ดังนั้น คนส่วนใหญ่ 90-95% ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ สามารถสังเกตอาการใน 48 ชั่วโมง หากอาการไม่รุนแรงเพิ่มก็จะมีความปลอดภัย ดังนั้นการดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.ฆนัทกล่าว
ด้าน น.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สำหรับ สปสช. เป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยการปรับบทบาทสายด่วน 1330 จากเดิมที่ให้ข้อมูลการใช้สิทธิบัตรทอง แต่เมื่อโควิดเข้ามาก็เปิดเป็นสายด่วนช่วยตอบข้อมูลให้ประชาชน จองฉีดวัคซีน เมื่อมีการระบาดมากขึ้น ก็จัดระบบรักษาที่บ้าน(HI) การส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง
ตอนนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่อาการไม่รุนแรง ทางสธ.จึงมีนโยบาย “เจอแจกจบ” ประชาชนสามารถเดินทางไปรับยาในสถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพแต่ละคนได้ ทางสายด่วนก็ข้อมูลส่วนนี้กับประชาชนด้วย สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ สายด่วน 1330 ก็จะรับเรื่อง ดำเนินการติดต่อไปยังหน่วยบริการเพื่อให้เข้าฮอสพิเทล(Hospitel) หรือศูนย์พักคอยในชุมชน(CI)
อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนติดต่อมาที่สายด่วนแล้ว ก็จะส่งต่อไปยังหน่วยบริการ ที่ขั้นตอนนี้ต้องรอให้หน่วยบริการรับเรื่อง ดังนั้น ระหว่างที่รอแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทางสายด่วน 1330 ได้สำรองเตียงทาง รพ.ภาครัฐ และเอกชนรองรับ
ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ามีเตียงสำรองเหลืออย่างไรด้วย สำหรับช่วงสงกรานต์มีการเตรียมสำหรับ 2 พันคู่สายรองรับไว้ ยืนยันว่าหากประชาชนที่ไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ในตอนที่โทรไป แต่จะมีการโทรกลับอย่างแน่นอน โดยทาง นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสปสช. ยืนยันนโยบายสายด่วน 1330 ว่า “รับทุกสิทธิ รับทุกสาย” เพื่อให้มีการสื่อสารกับประชาชนและส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้
นายอนุกูล ทรายเพชร ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับ สปสช. เพื่อให้มีการพัฒนาระบบของสายด่วน 1330 พร้อมการเปิดรับอาสาสมัครรับสายคุยกับผู้ป่วย ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือบางส่วน เช่น การกรอกข้อมูล เพื่อให้การส่งต่อเร็วขึ้น ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ถือเป็นระบบสาธารณสุขระบบรองอย่างมาก
โดยเราพยายามเชื่อมโยงกับระบบหลัก ดังนั้น ที่ระบบหลักมีนโยบาย คำสั่งใหม่ออกมา ก็จะมีการปรับเปลี่ยนระบบให้สอดคล้องกัน อย่างด้วยโอมิครอนที่อาการไม่รุนแรง ประกอบกับนโยบายที่จะทำให้เป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น ก็จะต้องมีการปรับให้ระบบพร้อมช่วยเหลือประชาชน โดยเน้นการกระจายอุปกรณ์ให้ผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 77 views