ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี แนะปฏิบัติตัวรอมฎอน...อย่างไรให้ห่างไกลโควิด เผยวิธีละหมาดที่บ้านทำได้ แต่ต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัวเอง หากทำในมัสยิด ขอให้งดเปิดแอร์ หากจัดเลี้ยงอาหาร ขอให้แบบแจกกลับบ้าน ด้านกรมอนามัยแนะวิธีทำบ้านปลอดภัย
เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “บ้านสะอาดปลอดเชื้อ ชุมชนสะอาดปลอดโควิด เตรียมพร้อมก่อนวันสงกรานต์และเดือนรอมฎอน ว่า สำหรับช่วงเทศกาลถือศีลอด เดือนรอมฎอน ประเด็นสำคัญคือ การได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อยเข็มที่ 3 ส่วนมัสยิดต้องดำเนินตามมาตรการ Covid-19 Free Setting ผู้เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล Universal Prevention ประเมินความเสี่ยงตนเอง หากมีอาการหรือมีความเสี่ยงสูงให้ตรวจ ATK อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติศาสนกิจที่ต้องรวมกลุ่มกัน ขอให้ใช้เวลาน้อยที่สุด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจอนามัยโพล ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับภาพรวมของพฤติกรรมพึงประสงค์ DMH หรือ การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากในที่สาธารณะ และการล้างมือทุกสัมผัส พบว่าร้อยละ 80 เฉพาะเดือนมีนาคม 2565 มีพฤติกรรม DMH ครบถ้วน ร้อยละ 81 จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก Universal Prevention ในการปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ในครอบครัว และชุมชน
ด้าน นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ช่วงระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.65 ถือเป็นวันแรกของการถือศีลอด โดยจะต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อย อันตรายต่อตนเองและสังคม จึงต้องปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และทางจุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศ เนื่องจากในเดือนรอมฎอนจะมีการรวมตัวกันหลายครั้ง เช่น การร่วมกันรับประทานอาหารในเวลาดึก การละหมาด โดยหากเป็นคนที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นคนอยู่ต่างจังหวัดแล้วกลับมาร่วมกันในการถือศีลอด ต้องมีความระวังอย่างมาก คือ แยกอาหารเป็นสัดส่วน ไม่ใช่ภาชนะรวมกัน
“การละหมาดหากมีความจำเป็นสามารถทำที่บ้านได้ แต่ถ้าทางมัสยิดมีความพร้อม มีมาตรการเคร่งครัดก็สามารถทำได้ ด้วยการเตรียมสถานที่ กำหนดจุดให้ผู้เข้าร่วมยืนตามจุด เตรียมจุดล้างมือ มีเครื่องฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะพื้นที่นอกบริเวณมัสยิด ก็สามารถออกมาทำด้านนอกได้ แต่หากจะต้องทำภายในมัสยิด ขอให้งดการเปิดแอร์ หากจัดเลี้ยงอาหาร ขอให้เป็นแบบแจกกลับบ้าน” นายสุธรรม กล่าว
ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลักปฏิบัติในการจัดการบ้านให้ปลอดภัย ปลอดโควิด ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จะเน้น 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1.การจัดสภาพแวดล้อม ควรเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง มีการระบายอากาศที่ดี และมีการทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม
2.การระบายอากาศ ที่เป็นพื้นที่โล่ง ให้เปิดหน้าต่าง ประตู หรือช่องลม อย่างน้อย 2 ด้านของห้อง เพื่อเป็นช่องทางให้ลมเข้าและออกได้ดี รวมทั้งกรณีใช้เครื่องปรับอากาศ ควรมีการเปิดประตู หน้าต่างเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างภายในและภายนอก การเปิดพัดลมในบริเวณที่เป็นมุมอับ จะช่วยให้อากาศมีการกระจายมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการใช้ห้องที่มีอากาศปิด หากจำเป็นต้องใช้ ต้องมีการเปิดประตูเพื่อระบายอากาศเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง ในกรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ให้บำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่กำหนด
3.การทำความสะอาดบ้าน ขอให้เน้นย้ำทำความสะอาด จุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตู เก้าอี้นั่ง ชักโครก สายยาง ก๊อกน้ำในห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น แต่หากไม่มีเวลา ให้ใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ พ่นที่จุดสัมผัสเหล่านั้น ในส่วนที่มีการแยกห้อง แยกโซน ที่สำคัญ เน้นย้ำลูกหลาน หากพบว่าตนเองเพิ่งติดเชื้อโควิด ให้งดการเดินทาง แต่หากพบหลังจากเดินทางแล้ว จะต้องจัดการแยกห้องแยกโซน เพื่อความปลอดภัยของคนอื่น ๆ ในบ้าน โดยบ้านที่มีพื้นที่จำกัด จำเป็นจะต้องแยกโซนให้ชัดเจน
4. การจัดการขยะติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแยกกักตัว หรือกรณีทั่วไป หน้ากากอนามัย และ ATK ที่มีการตรวจด้วยตนเอง ถือเป็นขยะติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 245 views