แม้ว่าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค.) เห็นชอบการปรับเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยยกเลิกการตรวจ RT-PCR ที่ประเทศต้นทางก่อนการเดินทาง โดยให้มาตรวจเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย และให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งเมื่ออยู่ในประเทศไทยครบ 5 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวไม่ต้องตรวจ RT-PCR ถึง 2 ครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนี้เป็นต้นไป แต่สำหรับมุมมองของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พวกเขาเห็นว่า แม้จะลดการตรวจ RT-PCR เพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อมาถึงประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร ควรยกเลิกมาตรการตรวจที่ไทยและเน้นเรื่องวัคซีนพาร์ตสปอร์ตเหมือนกับหลายประเทศที่มีการปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิดดีกว่า
Brandon Sanchez แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกลุ่ม Thailand Reopening 2021 - 2022·ทางเฟซบุ๊คว่า “ผมหวังว่าพวกเขาจะยกเลิกการตรวจเชื้อโควิดตอนเดินทางถึงและกักตัวระหว่างรอผล โดยยังคงเงื่อนไขการตรวจเชื้อก่อนเดินทางแทนเพราะคุณต้องรู้ว่าตัวเองติดโควิดหรือไม่ก่อนจะเดินทาง ผมว่าแบบนั้นมันสมเหตุสมผลที่สุด”
ขณะที่ Gaston Lagaffe ยืนยันว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่ว่าผลการตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางจะมีความจำเป็นสำหรับการเข้าประเทศหรือไม่ เขาก็ยังจะตรวจ RT-PCR ก่อนบิน เผื่อว่าผลออกมาเป็นบวกจะได้ยกเลิกการเดินทางและเลี่ยงการเจอปัญหาต่างๆ ที่ตามมา
ทั้งนี้นักท่องเที่ยวบางคนมองว่าการคงมาตรการตรวจเชื้อถึง 2 ครั้งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากล่าสุดหลายประเทศได้ปรับลดมาตรการต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการท่องเที่ยวมากขึ้นและจะทำให้พวกเขาเบนเป้าหมายเดินทางไปประเทศอื่นๆ แทน
“นี่เป็นเหตุผลที่พวกเราไปอเมริกา ซึ่งแค่ดูวัคซีนพาสสปอร์ต เราต้องอยู่กับความจริงที่ว่าโควิดจะไม่หายไปไหน” Gary Kinsley แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ค และเขายังเห็นว่าหากรัฐบาลไทยยังคงข้อจำกัดและการตรวจเหล่านี้เอาไว้ พนันได้เลยว่ามันจะเริ่มส่งผลเสียต่อประเทศไทยเอง
ขณะที่นักท่องเที่ยวอีกรายใช้ชื่อในบัญชีเฟซบุคว่า Lagaffe เสริมว่า ไทยควรผ่อนคลายมาตรการเหมือนกับ เวียดนาม กัมพูชา และออสเตรเลีย ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียนักท่องเที่ยวจำนวนมากไปยังจุดหมายปลายทางที่อื่นแทน
“การแข่งขันเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้เริ่มขึ้นแล้ว! ผู้ชนะจะตอบสนองและปรับตัวได้เร็วที่สุด! ผู้แพ้คือคนที่ยังยึดกับเงื่อนไขข้อกำหนดที่ไร้สาระที่สุด!”
ด้านคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศส่วนหนึ่ง เผยว่าบางสายการบินก็ยังต้องการผลตรวจก่อนขึ้นเครื่องอยู่ดี ขณะเดียวกันก็ยังเลือกตรวจก่อนการเดินทาง เพื่อสามารถเลื่อนหรือยกเลิกทริปได้ก่อนบิน เป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ และหากอยากให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจริงๆ ควรให้ตรวจก่อนมาแต่ยกเลิก test and go สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วดีกว่า
“ต้นเดือนที่แล้ว เราไปเล่นสกีที่อิตาลีจะซื้อ ski pass ต้องใช้ใบฉีดวัคซีนแสดงการฉีดครบแล้ว และทุกวันต้องลงทะเบียนในแอพของ ski pass ว่า ใบฉีดวัคซีนยังใช้ได้อยู่ เดือนหน้าเราจะไปเที่ยวอังกฤษ เราก็แค่มีใบฉีดวัคซีนก็ไปอังกฤษได้ แต่จะกลับเมืองไทยยุ่งยาก เอเยนต์ที่เราซื้อตั๋วเครื่องบินบอกว่าลูกค้าปกติที่จะไปเมืองไทยประจำหรือตั้งใจจะไปเมืองไทย เลือกไปเวียดนาม กับ ฟิลิปปินส์แทน และทางเอเยนต์ก็แนะนำลูกค้าให้ไปที่อื่นแทนประเทศไทยจะดีกว่า” ส่วนหนึ่งของข้อความแสดงความคิดเห็นต่อมาตรการล่าสุด
>> คงต้นทางเลิกปลายทางเมกเซนส์กว่า
ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ในฐานะมีส่วนได้เสียโดยตรงต่อนโยบายการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติมองเรื่องนี้ว่าจำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลย์ระหว่างการควบคุมโรคและการฟื้นเศรษฐกิจ
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้เป็นตัวเลือกเดียวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงต้องมองว่านักท่องเที่ยวจะเลือกแบบไหน ก่อนหน้านี้เประเทศไทยอาจเป็นทาวเลบือกเดียว แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ต้องรู้ว่าบรรยากาศของการท่องเที่ยวและการเดินทางเป็นอย่างไร ถ้าคิดจะช่วงชิงโอกาสสร้างจุดแข็งด้านการแข่งขัน ควรจะต้องทำให้มันบาลานซ์ แต่ตอนนี้ดูไม่บาลานซ์ หากจะตรวจ 1 ครั้งเหมือนกันควรตรวจต้นทางดีกว่า
“ก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนได้มีการเสนอไปแล้วว่าควรจะยกเลิกการตรวจที่ประเทศไทย แต่ทางภาครัฐก็ยังยืนยันมาตรการเช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยในเรื่องนี้หลายรอบมาก โดยถ้าจะเลือกตรวจหนึ่งครั้งควรจะเป็นการตรวจต้นทางดีกว่า”
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต เสริมว่าการตรวจต้นทางจะเป็นประโยชน์สำหรับคนขึ้นเครื่องบินที่ส่วนใหญ่ต้องตรวจกันมาแล้ว และต้องมองว่าถ้าไม่ได้ตรวจต้นทางแล้วมาตรวจที่เมืองไทยแล้วเกิดผลเป็นบวกขึ้นมาฮอลิเดย์ล่มเขาก็ไม่ได้เที่ยว แต่ถ้าเขาอยู่บ้านยังทำอะไรได้
>> สสจ.ภูเก็ตเชื่อคลายมาตรการเร็วๆนี้
ด้าน นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่าหากมองในแง่ของนักท่องเที่ยวคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรวจต้นทางน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการมาตรวจปลายทางหากพบเชื้อขึ้นมามีปัญหาตามมาหลายเรื่อง แต่ด้วยเหตุผลทางภาครัฐที่ยังต้องมีการคัดกรองและอาจไม่มั่นใจในผลตรวจ ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในประเทศที่ยังมีกลัวโควิดเพราะหลักฐานเอกสารบางอย่างอาจปลอมแปลงได้จึงยังต้องเดินสายกลาง
“การตรวจวัคซีนพาร์สปอร์ตหรือผล RT-PCR ก่อนมาก็ถือเป็นการคัดกรองอย่าง เมื่อมาเมืองไทยแล้วไม่ต้องตรวจถือเป็นการแข่งขันทางการท่องเที่ยว มันได้อย่างเสียอย่าง ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวก็อาจไม่อยากทำ แต่คนในประเทศอาจโอเคกับการตรวจนี้” นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวพร้อมเชื่อว่าอาจจะมีการปรับลดมาตรการในเร็วๆ นี้ เช่นปรับเป็นตรวจ ATK แทนเป็นการค่อยๆ ปลดทีละสเต็ป เพราะหากนานกว่าจะไม่สามารถสู้กับเขาได้ในภาคธุรกิจ
>> เข้าโลว์ซีซั่นมุ่งเป้านักท่องเที่ยวไทย
อะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพังงา กล่าวว่า ขณะนี้หลายๆ ประเทศมีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น อย่างหลังวันที่ 1 เม.ย. ก็จะมีการเปิดพรหมแดนทางบกไทย-มาเลเซีย คาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวคงจะดีขึ้นอีก ซึ่งที่ผ่านมาทางภาครัฐก็พยายามผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและได้รีบการตอบรับที่ดีแต่บางส่วนก็ยังต้องมีเรื่องสาธารณสุขเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแต่ยังผ่อนคลายทั้งหมดไม่ได้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผอ.ททท.พังงา เสริมว่า หากเพื่อนบ้านผ่อนคลายกันหมดประเทศไทยก็ต้องผ่อนคลายตามเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของส่วนกลาง แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวยุโรปช่วงนี้อาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะกำลังจะหมดซีซั่นท่องเที่ยว หลังจากนี้น่าจะเน้นนักท่องเที่ยวไทยมากกว่า
ทั้งนี้ ททท.สำนักงานพังงา เพิ่งจัดงาน “Bangsak Beach Festival 2022” ซึ่งมีกิจกรรมดนตรี กีฬาอย่างเซิร์ฟสเก็ตและซัพ และการออกร้านอาหารต่างๆ ณ หาดบางสัก เมื่อวันที่ 25-27 มี.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมเปิด Surf Season ของปีนี้อย่างเป็นทางการในงาน SURF FESTIVAL (FIRST WAVE OF KHAOLAK SURF TOWN) ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค.ณ บริเวณหาดปะการัง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
มุมมองเหล่านี้เป็นเรื่องซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการป้องกันและควบคุมโรคกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
- 821 views