“วันไตโลก ปี 65” สปสช. ร่วมรณรงค์ ”สร้างเสริมภูมิความรู้ควบคู่การดูแลไต” เผยปัจจุบัน “กองทุนบัตรทอง” ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกไตกว่า 6.3 หมื่นคน พร้อมระบุ 14 ปี สปสช.พัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ป่วยไตต่อเนื่อง ล่าสุดปีนี้รุกนโยบาย “เลือกล้างไตแบบที่ใช่” ช่วยผู้ป่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ครอบครัว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันไตโลก’ หรือ ‘World Kidney Day’ โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม ภายใต้คำขวัญ ”สร้างเสริมภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคและชะลอการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องบำบัดโดยการล้างไตไปตลอดชีวิต ซึ่งในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตลง เพราะด้วยค่าใช้จ่ายสูงจนเป็นอุปสรรคในการการรักษาและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวตกอยู่ในภาวะล้มละลาย
จากสถานการณ์ดังกล่าว สปสช. ได้บรรจุให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยเริ่มในปี 2551 ด้วยขณะนั้นยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านงบประมาณ หน่วยบริการล้างไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล ดังนั้นระยะแรกจึงเป็นการดำเนินการนโยบาย “ล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” (CAPD First Policy) ซึ่งการล้างไตวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ มีความสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่หน่วยบริการ โดยดูแลควบคู่กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องฟอกไตและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากให้การดูแลครอบคลุมบริการที่จำเป็นแล้ว เช่น การจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ผู้ป่วยที่บ้าน บริการยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น ยังได้ยกระดับบริการโดยนำร่องบริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยล้างไตขณะหลับช่วงเวลากลางคืนได้ และสามารถทำงานหรือเรียนเป็นปกติในช่วงกลางวันได้
สำหรับในปีนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สปสช. ได้เริ่มดำเนินการนโยบายตามมติ บอร์ด สปสช. ที่เปิดให้ “ผู้มีสิทธิบัตรทองเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่” เพื่อเปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้องแต่ต้องการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือด สามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตร่วมกับแพทย์ได้ โดยแพทย์จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านให้ผู้ป่วยเข้าใจและตัดสินใจได้ใช้วิธีที่ถูกต้องในการรักษา เป็นการเคารพสิทธิการตัดสินใจของผู้ป่วย และลดภาระค่ารักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้ป่วยที่เปลี่ยนจากล้างไตทางช่องท้องมาเป็นฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 5,282 คน
ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 63,694 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24,256 รายและผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO 6,546 ราย จะเห็นได้ว่าภาวะโรคที่คุกคามสุขภาพประซาชน ในแต่ละปียังมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2565 นี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 9,731.3395 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
“วันไตโลกในปีนี้ เป็นการรณรงค์มุ่งเน้นการป้องกัน ชะลอภาวะเสื่อมของไตที่นำไปสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งภายใต้บัตรทองมีประโยชน์การบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทีเป็นการดูแลสุขภาพประชาชน และนำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังไตวายระยะสุดท้าย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 265 views