4 กระทรวงฯ- ทปอ. ร่วมมือจัด "สนามสอบพิเศษ" ให้เด็กนักเรียน นักศึกษากลุ่มติดเชื้อโควิด หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เน้นกลุ่มสีเขียว แทบไม่มีอาการ เข้าสอบแยกส่วนกับผู้สอบไม่ติดเชื้อ พร้อมเปิดรายละเอียดการดำเนินการ เริ่มลงทะเบียน 7 มี.ค.65 เป็นต้นไป ผ่าน student.mytcas.com กรณีเด็กที่เพิ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้ลงทะเบียนไม่ทัน ถือว่าขาดสอบ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงประเด็น : "สนามสอบ” เข้มมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด ว่า ช่วงเดือน มี.ค. เป็นฤดูแห่งการจัดสอบ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่ยังพบการติดเชื้อ จึงต้องมีการปฏิบัติตามหลัก VUCA โดยเริ่มจากผู้สอบ ผู้จัดสอบ และบุคลากรทางการศึกษาควรได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือทุกครั้งเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของ ส่วนสถานศึกษา สถานที่จัดสอบ ต้องดำเนินการตามมาตรการ Covid Free Setting และผู้สอบ ผู้จัดสอบ และบุคลากรทางการศึกษาต้องประเมินความเสี่ยงตนเอง ทั้งไทยเซฟไทย และควรตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง
ด้านนพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในสถานที่สอบ ว่า สำหรับการบริหารจัดการเป็นความร่วมมือของ 4 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันดำเนินการจัดการสอบให้ปลอดภัย ทั้งนี้ เรื่องการตรวจคัดกรอง ATK ไม่ได้แนะนำให้ตรวจทุกราย แต่ให้ตรวจรายที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง
** โดยได้กำหนดให้แต่ละจังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์สอบตามความเหมาะสมอย่างน้อย 1 แห่ง อาจพิจารณาใช้พื้นที่แยกกักชุมชน(CI) หรือฮอสปิเทล เพื่อการจัดที่พัก การจัดระบบให้บริการอาหาร ตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ โดยเน้นแยกของใช้ เช่น จัดอาหารกล่อง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน รวมทั้งต้องจัดบริการรถรับส่งสำหรับผู้ติดเชื้อ เพื่อเดินทางมาสอบ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนกทม.และปริมณฑล ผู้จัดสอบ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ทปอ.มูลนิโรงพยาบาลราชวิถีจัดบริการรถแท็กซี่ฉุกเฉิน ส่วนจังหวัดอื่นๆ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับผู้จัดสอบในต่างจังหวัดพิจารณาการจัดบริการรถ
- สถานที่จัดสอบ ให้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียนในการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดให้มีพื้นที่แยก สำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นให้มีการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในการป้องกันโรคโควิดในสถานศึกษา เช่น การจัดการขยะติดเชื้อ และการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส
- ผู้คุมสอบ ต้องปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม
- ผู้เข้าสอบ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย รวมทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องตรวจสอบสถานที่สอบที่กำหนด และลงทะเบียนกับสถานที่สอบ เมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่ง และการเดินทางไปสนามสอบควรใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธารณสุข กรณีไม่มีรถส่วนตัว
"ก่อนการสอบ ต้องเน้นย้ำยกการ์ดสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งตัวผู้เข้าสอบ ผู้ปกครองด้วย เพราะช่วงระยะจะสอบหากป้องกันความเสี่ยง โดยไม่ติดเชื้อจะเป็นสิ่งที่ดี และการติดเชื้อดควิดไม่รุนแรงจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตการศึกษาของนักเรียน" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงประเด็น : การดำเนินการจัดสอบสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการจัดสอบผู้ติดเชื้อโควิด ทางทปอ. ได้ดำเนินการจัดสอบแบบสนามพิเศษ ซึ่งการจัดสอบประกอบด้วย สนามสอบ 213 แห่งทั่วประเทศ 77 จังหวัด สนามสอบเหล่านั้นดำเนินการเฉพาะคนไม่ติดเชื้อ เข้าสอบได้ปกติ ส่วนสนามสอบพิเศษ เราแยกออกจากสนามสอบปกติ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการติดเชื้อโควิด
รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่า สำหรับสนามสอบพิศษ ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบแต่ละภูมิภาค ทั้งภาคกลาง กทม. คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคเหนือ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ม.ขอนแก่น และม.สุรนารี ภาคใต้ คือ ม.วลัยลักษณ์ และม.สงขลานครินทร์ ซึ่งศูนย์สอบ 6 แห่งจัดตามภูมิภาค เป็นศูนย์สอบจัดเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นกลุ่มอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ที่เรียกว่า กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ในระบบ student.mytcas.com ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งสามารถลงทะเบียนเลือกสนามที่ตนเองจะสอบ สำหรับจ.จันทบุรี ได้ดำเนินการจัดสนามสอบพิเศษเฉพาะนักเรียนในจ.จันทบุรี สามารถลงทะเบียนระบบนี้ได้เช่นกัน เมื่อเข้าระบบแล้วก็จะมีไลน์กลุ่มไว้ประสานข้อมูลต่างๆ
"เมื่อถึงวันสอบขอให้ผู้สอบเดินทางมายังสนามสอบพิเศษ โดยใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือประสานหน่วยงานสาธารณสุขพื้นที่ หรือจิตอาสาพาผู้สอบมาสนามสอบพิเศษ ทั้งนี้ สนามสอบพิเศษของม.ธรรมศาสตร์ ยังมีที่พักให้ผู้ป่วยโควิดด้วย โดยดำเนินการเข้าพักวันแรก 11 มี.ค. เพราะจะสอบวันแรก คือ วันที่ 12 -15 มี.ค. และอีกช่วงคือ วันที่ 19-20 มี.ค.นี้" รศ.ดร.ชาลี กล่าว
รศ.ดร.ชาลี กล่าวอีกว่า ห้องสอบมีขนาดใหญ่พอสมควร ระยะห่าง 2 เมตรทั้งแนวนอนและแนวตั้ง โดยผู้คุมสอบ ศูนย์สอบเป็นผู้จัดหา หรือขอความร่วมมือสาธารณสุขจัดหา และการคุมสอบจะมีชุด PPE สวมใส่ด้วย ส่วนห้องน้ำก็แยกจากห้องน้ำปกติ จึงไม่ต้องกังวล ส่วนอาหารก็จัดบริการโดยส่วนกลาง เป็นอาหารกล่อง ทานแยกกัน บริการภายในศูนย์พิเศษเท่านั้น ไม่มีการปะปนกับใคร
“มีการคาดการณ์จากข้อมูลระบาดวิทยาของเด็กอายุ 18 ปี จะมีการติดเชื้ออยู่ที่ 0.4 % เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนผู้เข้าสอบประมาณ 180,000 คน จึงคาดว่าจะมีผู้เข้าสอบที่เป็นผู้ติดเชื้อ 730 ราย ทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรณีเด็กที่เพิ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อในระยะเวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้ลงทะเบียนสนามสอบพิเศษไม่ทันก็ถือว่าขาดสอบ” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ข้อมูลการติดเชื้อจากสัปดาห์ที่ 1 ของเดือน ม.ค.2565 พบเกือบ 3.5 หมื่นราย ถึงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนก.พ. สูงถึง 1.4 แสนกว่าราย สอดคล้องกับการติดเชื้อกลุ่มเด็ก 0-18 ปี ที่มีการติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สาเหตุติดเชื้อส่วนใหญ่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว รองลงมาคือ มีประวัติเสี่ยงในชุมชน บางส่วนติดเชื้อสถานศึกษา หากแบ่งกลุ่มอายุ 0-9 ปีมักติดเชื้อในครอบครัว เด็กอายุ 15-19 ปีมักติดเชื้อนอกบ้าน หรือในชุมชน ส่วนเด็กอายุ 10-14 ปีมีการติดเชื้อในโรงเรียน
"เมื่อพิจารณาสัดส่วนของกลุ่มวัยติดเชื้อโควิด พบว่า 0-18 ปีมีจำนวนติดเชื้อสูงขึ้น โดยสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. พบว่า กลุ่มอายุ 0-18 ปีร้อยละ 12 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. และคงอยู่จนถึงปัจจุบัน"นพ.สุวรรณชัย กล่าว
สำหรับผลสำรวจอนามัยโพล กรณีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันโรคของกลุ่มเด็ก นักเรียน นักศึกษา อายุต่ำกว่า 24 ปี ตั้งแต่เดือนต.ค.2564 พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 24 ปีมีพฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัยมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมน่าชื่นชม แต่พฤติกรรมการล้างมือและเว้นระยะห่าง ในเดือน ก.พ.เริ่มลดลง จากเดือนม.ค. พฤติกรรมล้างมือร้อยละ 83 และพฤติกรรมเว้นระยะห่างร้อยละ 70.1 กลับลดลงเหลือร้อยละ 73.4 และร้อยละ 62.5 ตามลำดับในเดือน ก.พ. ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 248 views