สธ.เปิดบริการเสริมคลินิกดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดแบบ OPD หรือผู้ป่วยนอก ใช้คลินิกทางเดินหายใจของหน่วยบริการ(ARI Clinic) จัดบริการ ชี้รพ.สังกัดสธ.มีคลินิกนี้ทุกแห่ง เริ่ม 1 มีนาคมทั่วประเทศ ด้าน รพ.ราชวิถี รักษาตามอาการ จ่ายยาแบ่งได้ 7 สูตร
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 มี.ค. 2565 ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งได้เปิดคลิติกบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD เป็นวันแรกในรพ.ใหญ่ทั่วประเทศ โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมผู้บริหารเข้าตรวจความเรียบร้อยของระบบ
นพ.เกียรติภูมิ ให้สัมภาษณ์ว่า การให้การดูแลรักษาผู้ติดโควิด19 แบบผู้ป่วยนอก(OPD) หรือที่เรียกว่า “เจอ แจก จบ “ เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดเชื้อ โดยเจอ คือ เมื่อพบเจอการติดเชื้อด้วยการตรวจATK หรือRT-PCR แจก คือ แจกความรู้โดยจะมีการแจกใบความรู้ระหว่างดูแลตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน คำแนะนำเกี่ยวการกินยา ผลข้างเคียงต่างๆ และแจกยา และจบ คือ ผู้ติดเชื้อได้รับการลงทะเบียนว่าอยู่ในระบบบริการที่สธ.รับไว้ดูแลเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ที่มีผลตรวจATKเป็นบวกหรือเข้ารับการตรวจATKที่คลินิกทางเดินหายใจของหน่วยบริการ(ARI Clinic) ซึ่งรพ.สังกัดสธ.มีคลินิกนี้ทุกแห่ง หากประเมินแล้ว ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และไม่มีภาวะเสี่ยง ก็จะมีการสอบถามความสมัครใจในการรับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งหากจำเป็นต้องได้รับยาก็จะสามารถรับได้ที่คลินิก โดยจะมียา 3 กลุ่ม คือ 1.ยารักษาไข้หวัดทั่วไป เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ 2.ฟ้าทะลายโจร และ3.ฟาวิพิราเวียร์
การตรวจรักษาโควิด19 ขณะนี้พยายามวางแผนที่จะจัดการให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นดูเรื่องความรุนแรง ศักยภาพภูมิต้านทานของคนและกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สิ่งนี้โดยหลักวิชาการพบว่าโอมิครอนความรุนแรงต่ำมาก 95 % ขึ้นไปไม่มีอาการหรืออาการน้อย ที่เคยเป็นห่วงว่าสีเขียวสมัยอัลฟากับเดลตา จะกลายเป็นเหลือง แต่ในโอมิครอนจะสรุปตัวเลขอีกทีว่าการที่อาการจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์จะทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น แต่ที่ปรากฎคือไม่ถึง 1 % คือ 100 คนที่อาการเป็นสีเขียวแล้วจะกลายเป็นสีเหลืองภายหลังน้อยกว่า 1 % และแม้จะมีอาการเพิ่มขึ้นก็สามารถติดต่อกลับมาปรึกษาและเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ เพราะมีการลงทะเบียนแล้ว
“รูปแบบการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก นี่คือการที่จะนำโควิด19ไปสู่โรคประจำถิ่นว่าโรคนี้ที่ไม่รุนแรง สมัยก่อนเราไม่รู้ และรู้จักโรคน้อยและโรคมีความรุนแรงจริงๆ ทำให้ต้องรับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่มีอาการเข้ามาอยู่รพ. 14 วันในช่วงแรก ส่วนระยะหลังก็ลดเหลือ 10 วัน ซึ่งการรักษาทั้งหมดผู้ติดเชื้อไม่เสียค่าใช้จ่าย”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ประสานรพ.สังกัดกรมการแพทย์ กทม.โรงเรียนแพทย์ รองรับการดูแลผู้ป่วยโควิดในระบบ OPD โดยเฉพาะกทม.ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กว่าแห่งที่มีคลินิกทางเดินหายใจสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละ 1 หมื่นราย ย้ำ OPD โควิดเป็นบริการเสริมที่เป็นทางเลือกไม่ใช่ทดแทน HI รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่มีประกัน แต่ให้เป็นความสมัครใจ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่หน้างาน
ขณะที่ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ. ราชวิถี กล่าวว่า มีผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่คลินิกทางเดินหายใจเฉลี่ยวันละ 150-250 คน ในจำนวนนี้เมื่อคัดกรองความเสี่ยงพบเป็นโควิด-19 ประมาณ 60-70% และขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ในระบบ HI ของราชวิถี มีรวม 2,021 คน ทั้งนี้ในการจ่ายยา เน้นการจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผล เหมาะกับผู้ป่วย และไม่ได้รับผลกระทบหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยา เกินจำเป็น โดยสูตรยาที่จะแจกให้กับผู้ติดเชื้อโควิด จะแบ่งไปตามกลุ่มอาการ ได้แก่ 1. สูตรยารักษาตามอาการ 2. สูตรยารักษาการติดเชื้อ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ รวมถึงยาแก้แพ้ 3. สูตรยา ที่มีอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย และจ่ายยาฆ่าเชื้อ 4. สูตรยากลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการแพ้อะม็อกซีซิลลิน 5.สูตรยาที่มีการผสมฟ้าทะลายโจร 6. สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียรให้กับคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม และ 7.สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิราเวียร์ในผู้ติดเชื้อน้ำหนัก 90 กิโลกรัม
ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผยข้อแตกต่างการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบ "ผู้ป่วยนอก" และ HI/CI
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2229 views