สธ.โชว์ฉากทัศน์ “โอมิครอน” ระบาดเดือน มี.ค. อยู่แนวระนาบเริ่มทรงตัว จากนั้นค่อยๆลดลง เข้าสู่โรคประจำถิ่น เผยเทียบระบาดสหรัฐ-ยุโรปพุ่งประมาณ 1-2 เดือน ตอนนี้ไทย 1-2 เดือน เหลืออีกประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรงตัว และลดลง หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชี้แบบจำลองคาดเสียชีวิตโควิดไม่เกินวันละ 50 ราย ขณะที่ปอดอักเสบราว 1 พันกว่าราย แตกต่างสมัยเดลตาพุ่งถึง 6-7 พันราย ส่วนใส่ท่อช่วยหายใจ 500 ราย เทียบเดลตาตอนหนักๆ ถึง 1.3 พันราย

 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โควิดและการจัดทำฉากทัศน์การระบาดโอมิครอน ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ขณะที่ผู้ติดเชื้อในแถบยุโรป สหรัฐ มีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในทุกภาค ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยเสียชีวิตแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้ไนป กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง อ้วน และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงต้องขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกเข็ม โดยเฉพาะบูสเตอร์โดส จะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยวันนี้(28 ก.พ.) รายงานผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน เนื่องจากรายวันการแกว่งตัวค่อนข้างสูง โดย 14 วันพบเฉลี่ย 20,264 ราย เสียชีวิตวันนี้รายงาน 42 ราย เฉลี่ย 14 วันอยู่ที่ 34 ราย ส่วนปอดอักเสบวันนี้ 980 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 280 ราย ซึ่งขึ้นตามสัดส่วนผู้ติดเชื้อ แต่อยู่ในระดับที่ดูแลได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงเตือนโควิดระดับ 4 ขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง เสี่ยงรวมกลุ่มคน และชะลอการเดินทาง

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อดควิดในประเทศรายใหม่และสะสมระลอกเดือน ม.ค. 2565 วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ.65 พบ 15 จังหวัดติดเชื้อสูง คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ภูเก็ต นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี ราชบุรี บุรีรัมย์ ระยอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 42 รายพบว่า 95% อยู่ในกลุ่ม 608 คือ คนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวต่างๆ ติดเตียง โรคมะเร็ง

ปลัดสธ. กล่าวถึงการจัดทำฉากทัศน์การคาดการณ์โอมิครอนในระยะถัดไป ว่า กรมควบคุมโรคได้มีการคาดการณ์ทำเป็นฉากทัศน์ เพื่อประเมินสถานการณ์ในเดือนถัดๆไป ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือน มี.ค. จะเข้าสู่ระดับระนาบ และค่อยๆลดลง ส่วนฉากทัศน์สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบ หรือผู้ป่วยรุนแรงหลังติดเชื้อ อาจขึ้นบ้างเล็กน้อยประมาณ 1 พันกว่าราย แต่สมัยเดลตาระบาดมีถึง 6-7 พันราย ดังนั้น ระดับพันกว่ารายเราดูแลได้ ส่วนกรณีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจนั้น หากมีประมาณเกือบ 400-500 ราย เมื่อเทียบกับตอนเดลตาหนักๆมีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจถึง 1,300 ราย แต่หาก 500 ราย และไม่สูงกว่านี้ ซึ่งก็จะพยายามดูแลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิตได้

“ส่วนการคาดการณ์การเสียชีวิตในเดือนถัดไปอาจขึ้นตามสัดส่วนผู้ติดเชื้อ คาดว่าประมาณวันละ 50 ราย ไม่มากกว่านี้ และค่อยๆลดลงตามอัตราการติดเชื้อ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว และว่า หลังจากนี้ผู้ติดเชื้อจะมากขึ้น แต่อัตราป่วยหนัก เสียชีวิตจะดูแลอย่างมีคุณภาพ เพื่อไม่ให้มากขึ้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.กระจาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" 13 เขตสุขภาพ 1 มี.ค.นี้อีก 15 ล้านเม็ด)

 

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์การระบาดโอมิครอนว่าจะพบติดเชื้อมากไปถึงเมื่อไหร่ ว่า หากเทียบสหรัฐอเมริกาและยุโรปประมาณ 1-2 เดือน ตอนนี้ไทย 1-2 เดือน คือ 4-8 สัปดาห์ ก็เหลืออีกประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรงตัว และลดลงได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มาตรการยังเข้ม มีการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 นั้น ข้อมูลที่ผ่านมาไม่รุนแรงเท่าเดลตา

“หากเทียบสหรัฐกับยุโรป จากเป็นล้าน แล้วก็เป็นแสนราย จากนั้นก็ค่อยๆลดลง ของไทยตอนนี้ป่วยขึ้นมา 2 สัปดาห์ ก็จะเหลือ 2-6 สัปดาห์หากเทียบกัน แต่หากกดไว้มากก็จะค่อยๆ ช้าหน่อย ดังนั้น หากพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป ติดเชื้อจะเริ่มทรงตัว และค่อยๆลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ต้องมี และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว

** ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามฉากทัศน์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่โอมิครอน แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1  ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด หากไม่มีมาตรการใดๆ มาควบคุม รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น  ลดการแยกกัก ไม่มีการป้องกันตนเอง  อาจพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 19 เม.ย. ถึง 100,000 ราย  

รูปแบบที่ 2  ฉากทัศน์ที่ดีขึ้น เป็นเส้นสีส้ม  หากมีมาตรการควบคุม ประชาชนร่วมมือป้องกันโรค อาจพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 19 เม.ย. ประมาณ  50,000 ราย

รูปแบบที่ 3  ฉากทัศน์ที่ต้องการ หรือเส้นสีเขียว หากมีความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรค จะพบผู้ติดเชื้อคาดการณ์ประมาณสูงสุดเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาประมาณ 27,000 ราย

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผยข้อแตกต่างการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบ "ผู้ป่วยนอก" และ HI/CI )

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org