งานประชุมวิชาการ "Node วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา 4 ภาค" จัดโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอหัวข้อ"สะท้อนภาพกัญชาจากพื้นที่สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ" ซึ่งมาจากข้อสงสัยของประชาชนต่อตัวบทกฎหมาย
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ย้อนเส้นทางกัญชาว่า ปี 2465 มี พรบ.ยาเสพติดให้โทษ เรามี พรบ.กัญชา พ.ศ.2477 และมีพรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2518 จะเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะควบคุม จนมาถึง พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ซึ่งเรียกได้ว่าเริ่มจะปลดล็อคให้กับกัญชา กระท่อม และมีระเบียบออกมามากมายให้อนุญาตปลูก หลังจากนั้น พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับ 8 พ.ศ.2564 ถอดกระท่อมออกจากรายการยาเสพติดประเภท 5 ลงราชกิจจานุเบกษา 26 พ.ค. 2564 มีผล 24 ส.ค. 2564 ต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.2564
“สรุปแล้วกัญชาเป็นทุกข์ของใครกันแน่ ปัญหาชาวบ้านไม่ได้ใช้ โรงงานไม่ได้ขาย หรือเกษตรกรปลูกไม่ได้ ที่สำคัญปัญหาของพื้นที่จะสะท้อนโครงสร้างการดำเนินงานตามนโยบายที่ออกมามันอาจจะทำไม่ได้ด้วย" ผศ.ภญ.ดร.นิยดาให้ความเห็น
ภก.สันติ โฉมยงค์ สำนักงานสาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่จากต้นน้ำมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของกฎหมาย มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ในมุมของผู้ปฎิบัติงานเองต้องบอกว่ายังมีความสับสนอยู่ ในมุมของประชาชนบอกว่าเรื่องการปลูกกัญชาหายไปจากสังคมพักใหญ่ๆ แล้ว เพราะฉะนั้นการดูเรื่องเมล็ดพันธุ์ ความเข้าใจ การปลูก ในส่วนของต้นน้ำแทบจะไม่มีองค์ความรู้แบบนี้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อมาขออนุญาตปลูก ชุดความรู้ในการเอาไปปฏิบัติจริงหลังได้รับใบอนุญาตไปแล้วก็อาจจะทำไม่ได้ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีขออนุญาตไป 3 ราย บางรายปลูกได้ช่วงเดียวก็ปลูกไม่ได้แล้ว บางรายเจอปัญหาพืชแมลงก็ไม่ตรงตามแผนที่ดำเนินการไว้
ภก.สันติกล่าวว่า จ.พระนครศรีอยุธยา มีโรงงานสกัดกัญชง แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถแยกได้ว่าที่นำมาสกัดนั้นเป็นกัญชงหรือกัญชา โดยเฉพาะในภาคกลางอาจจะปลูกกัญชงจริงแต่โตขึ้นมามันกลายเป็นกัญชา กลางน้ำก็ยังมีเรื่องของความไม่ชัดเจน กฎหมายที่ออกตามหลังอนุญาตให้ตั้งโรงงานสกัดได้ แต่พอมีระเบียบ พรบ.สมุนไพร หรือ พรบ.ยา ใบอนุญาตที่เคยได้อาจจะผ่านเกณฑ์ผลิตภัณฑ์หนึ่งแต่ไม่ผ่านอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ซึ่งยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังกันอยู่
“บุคลากรทางการแพทย์แทบจะไม่สั่งจ่ายยาจากกัญชาเลย เพราะฉะนั้นในสังคมที่เราเจอก็คือ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยอายุเยอะๆ เคยใช้กัญชามาตั้งแต่ยังไม่ผิดกฎหมาย ยังโทษไม่แรงก่อนปี 2522 หรือผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาก็เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายแทน สกัดเองผสมเองใช้ตามความเชื่อ รวมถึงการลักลอบปลูกเพื่อเอาส่วนใบหรือช่อดอกมารักษาตัวเอง มาชงกับน้ำร้อนแล้วดื่มในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ไบโพลาร์ วัยรุ่นที่เป็นไบโพล่าร์เราพบว่าหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาเยอะขึ้น กลุ่มที่เป็นพาร์คินสันก็มีการใช้ ซึ่งสถานการณ์กัญชาในสังคมพบว่ามีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายมากกว่าแบบถูกกฎหมายเนื่องจากแพทย์ยังไม่กล้าสั่งให้ใช้กับผู้ป่วย" ภก.สันติกล่าว
ด้าน ภญ.วีรยา ถาอุปชิต สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชาในการรักษาโรคมีเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมีการให้ใช้ในโรงพยาบาลรัฐ การเข้าถึงและรักษายังมีข้อจำกัด ทั้งผู้ป่วยโรคที่สามารถจ่ายได้ กับแพทย์ไม่กล้าสั่งใช้กับผู้ป่วย
"ในชุมชนภาคอีสาน 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธ์ ชัยภูมิ และอุบลราชธานี พบว่ากัญชาที่ใช้รักษาในภาคอีสานมีหลายโรคมากกว่าที่สาธารณสุขกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หรือแม้แต่มะเร็งที่กำหนดว่าควรจะใช้ระยะท้ายก็ไม่เพราะผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาก่อนหน้านั้น หรือแม้แต่เป็นโรคผิวหนัง SLE ก็เริ่มมีการใช้กัญชากันแล้ว" ภญ.วีรยา กล่าว
ภญ.วีรยา เปิดเผยว่า หลังจากลงไปพูดคุยกับชาวบ้านพบมีความนิยมดื่มน้ำที่หล่อเลี้ยงอยู่ในบ้องสูบกัญชา หรือที่เรียกว่าน้ำใต้ต่อง โดยนำมาใช้รักษาไข้ป่าซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน แม้แต่การมวนสูบหรือปั่นใส่มือเพื่อผ่อนคลายก็พบได้ในชุมชนภาคอีสาน
"ชุมชนหรือชาวบ้านที่ใช้กัญชายืนยันว่าทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย เพราะทำให้กินข้าวได้ จิตใจผ่อนคลาย โดยเฉพาะเรื่องการนอนหลับของผู้ป่วยที่ทำให้หลับลึกในผู้ป่วยติดเตียงหรือระยะท้าย นั่นจึงทำให้เขายังใช้กัญชาอยู่ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้กัญชา ทางเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางภาคอีสานย้ำว่าไม่ใช่ว่าอยากจะใช้ก็มาใช้ คนที่ใช้ควรจะต้องมีความรู้อย่างแท้จริง ซึ่งก็มีผู้ได้รับการอบรมไม่ว่าจะจากอภัยภูเบศร์ หรือการแลกเปลี่ยนเครือข่ายกันเอง ตรงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากมีการใช้ยาโดยไม่รู้จัก ปรับขนาดยาไม่ถูกก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงตามมา รวมทั้งมีการระมัดระวังไม่ให้กัญชาตัวผู้กับตัวเมียมาผสมกัน เป็นชาวบ้านที่เรียนรู้มาในชีวิตจริง" เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าว
ทั้งนี้ ภญ.วีรยา สรุปว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวบ้านใช้กัญชาคือการไม่สะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาล เช่นผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยระยะท้าย แม้แต่ผู้ป่วยทั่วไปที่การไปโรงพยาบาลจะต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องหยุดงาน เป็นต้น
"นอกจากการนิรโทษกรรมปลดล็อคกัญชาออกมาจากยาเสพติดแล้ว พบว่าในชุมชนมีแพทย์ที่ยอมรับและให้ใช้กัญชาในการรักษาด้วย นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ชาวบ้านใช้กัญชา ประชาชนอยากให้มองว่ากัญชาเป็นพืชยาที่ใช้ในผู้ป่วยเป็นสำคัญ และใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างแท้จริง" ภญ.วีรยา กล่าว
ในขณะที่ ภญ.สุชีรา วีระดนัยวงศ์ สำนักงานสาธารณสุข จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้ทำการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ ระบุว่า ระดับทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิกกัญชา จ.บุรีรัมย์ อยู่ในขั้นดีมาก หรือร้อยละ 80 โดยมีปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ คุณประโยชน์-โทษของกัญชา ความวิตกกังวล การรับรู้ข่าวสาร โดยทัศนคติด้านกฎหมายและการควบคุมกำกับของภาครัฐมีมากที่สุด
"จากการศึกษามีข้อเสนอแนะระดับนโยบายคือกำหนดให้นำองค์ความรู้ด้านกัญชาบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของแพทย์และสหวิชาชีพเพื่อปลูกฝังทัศนคติเชิงบวก สนับสนุนการศึกษาวิจัยระดับประเทศในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ สนับสนุนการสั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งจัดกิจกรรมทางวิชาการเพื่อให้ความรู้และทักษะในการสั่งจ่ายยากัญชาอย่างต่อเนื่อง" ภญ.สุชีรา กล่าว
- 1659 views