สธ.แถลงสถานการณ์โควิดเตือนภัยระดับ 4 ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศ แต่ยอดป่วยหนักและเสียชีวิตยังไม่เพิ่มมาก ยังคงย้ำมาตรการป้องกันควบคุมโรค ช่วยชะลอสถานการณ์ ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ความรุนแรงไม่แตกต่าง BA.1 แต่แพร่เชื้อเร็วกว่า ขณะที่ไทยพบกว่า 50% แนะหากเริ่มเจ็บคอ ไอขอให้ตรวจ ATK ถ้าผลบวกประสาน 1330 เข้าระบบรักษา
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 เตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาพพื้นเอเชียทุกประเทศมีแนวโน้มสูง และคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มยังทรงตัวระดับสูงในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้โควิดในไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนกว่า 90% ความรุนแรงจะต่ำกว่าเดลตาประมาณ 10 เท่า แต่หากเทียบผู้เสียชีวิตยังน้อยกว่าการระบาดครั้งก่อน
อย่าไรก็ตาม หากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อมากขึ้น โอกาสไปสู่กลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวก็จะสูงขึ้นได้ เพราะกลุ่มวัยทำงานที่มีการรวมกลุ่มกัน สังสรรค์ ทานอาหารร่วมกัน หากติดเชื้อก็จะนำเชื้อไปยังกลุ่มเปราะบางได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญต้องช่วยกันชะลอการติดเชื้อ การกระจายเชื้อครั้งนี้ โรคโควิดเดินด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยพวกเราเป็นพาหะ ซึ่งมากกว่า 90% มีอาการเล็กน้อย และมากกว่า 50% ไม่มีอาการ เมื่อไม่มีอาการก็ไม่ระวังตัวเอง สิ่งสำคัญหากเริ่มมีอาการให้ตรวจ ATK หากเป็นบวกให้กักตัวเองและประสานสายด่วนโทร 1330 หรือหากมีความเสี่ยงให้กักตัวเองก่อน ขอย้ำว่า มาตรการป้องกันและควบคุมโรคยังเป็นเรื่องสำคัญ
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนเริ่มฉีดในเด็กเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด(ข้อมูล ถึงวันที่ 20 ก.พ.65) เข็มที่ 1 จำนวน 53,126,900 ราย หรือ 76.4% ส่วน 2 เข็มฉีดแล้ว 49,471,890 ราย หรือ 71.1% ส่วนเข็ม 3 ขึ้นไปฉีดแล้ว 19,126,536 ราย หรือ 27.5% จะพบว่า มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดขอให้มารับบริการ และคนที่ฉีด 2 เข็มแล้วหากจะป้องกันโอมิครอนดีขึ้นต้องฉีดเข็ม 3
"ผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 ไปแล้ว 27.7% หวังว่าหากขึ้นไปถึง 70% การป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในผู้สูงอายุจะลดลงได้ ส่วนอีกกลุ่ม เป็นเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดแล้ว 7.7% ซึ่งฉีดเพิ่มต่อเนื่อง จึงเชิญชวนเด็กๆที่ต้องไปโรงเรียน และที่บ้านมีผู้สูงอายุ ขอให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจะป้องกันทั้งในเด็กและผู้สูงวัย" นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกว่า 424 ล้านราย เฉพาะวันนี้มีรายงานกว่า 1.2 ล้านราย ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 5.9 ล้านราย วันนี้รายงาน 5.2 พันราย คิดเป็นสัดส่วน 1.39% อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1 ล้านกว่าราย สะสมทั้งสัปดาห์วันละ 12.4 ล้านราย เสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์ 66,266 ราย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยุโรป อเมริกาผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง มาทางเอเชีย แต่รัสเซียก็ยังสูงอยู่ที่ 1.2 ล้านคน สถานการณ์ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ขณะที่เวียดนามตัวเลขก็ยังสูง ทั้งสัปดาห์ติดเชื้อ 2.6 แสนราย เรียกว่ารอบๆบ้านเราติดเชื้อขาขึ้น จึงต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลกเริ่มลดลงในฝั่งยุโรป อเมริกา แต่มาเพิ่มฝั่งเอเชีย ส่วนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก
"กรณีสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดทั่วโลก มี BA.1 และ BA.2 โดยข้อมูลองค์การอนามัยโลกสายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงใกล้เคียง BA.1 แต่มีข้อมูลว่า BA.2 จะติดเชื้อและแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า สำหรับประเทศไทยก็เริ่มพบ BA.2 ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากการตรวจหาสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีการติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน 15,981 ราย ในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จำนวน 507,763 ราย สถานการณ์ตอนนี้เหมือนเป็นเส้นตรงขึ้นมา จึงต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย โดยแบ่งเป็นรักษาใน HI และ CI และรพ.สนาม 89,326 ราย อยู่ในรพ.มีอาการน้อยๆ อยู่ที่ 76,275 ราย
"กรณีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันนี้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 796 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตวันนี้ 32 ราย โดยเฉลี่ยเสียชีวิต 14 วันอยู่ที่ 25 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ 60% ไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม และไม่ฉีดบูสเตอร์โดส อย่างวันนี้เสียชีวิต 32 รายอยู่ในกลุ่ม 608 ซึ่งมี 16 รายไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม หรือฉีดเพียง 1 เข็ม จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้กลุ่มนี้รับวัคซีน" นพ.จักรรัฐ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.แจงเตือนภัยโควิดระดับ 4 ยกระดับจากพื้นที่เสี่ยง เป็นทุกจังหวัดทั่วประเทศ)
ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 13-19 ก.พ.65 กรณีผู้ติดเชื้อระลอก ม.ค. รวมจำนวน 115,917 ราย เป็นคนไทย 96.1% นอกนั้นต่างชาติประมาณ 3% โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่างๆ หรือเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน ร้านอาหาร อันนี้คือ 54% ส่วนอีก 44.5% ผู้สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว หรือกลุ่มใกล้ชิดเสี่ยงสูง
"โอมิครอนที่มาเมืองไทย สำหรับอาการป่วยจากข้อมูล 53,709 ราย พบว่าไม่มีอาการ 53.1% มีอาการป่วย 46.9% ส่วนใหญ่เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำๆ เป็น 3 อาการหลักๆที่เราเจอตอนนี้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้ ดังนั้น สังเกตอาการแรกๆ หากตากฝนมา มีเจ็บคอ ไอ ให้รีบตรวจ ATK เลย" นพ.จักรรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0.9 ปีเริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ และคนทำงาน พบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อตอนนี้เราแบ่งสีเป็นส้ม และแดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 13-19 ก.พ.65) พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก ดังนั้น การทำงาน การทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่างๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะมากขึ้น ส่วนวัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปี ที่มีโรคประจำตัวก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้
สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ต้องระวังคือ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี กระบี่ พังงา นนทบุรี ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางวัน บางวันก็ลดลง อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ลดลงบางวัน แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่
"จากการคาดการณ์พยากรณ์โรค อย่างเส้นสีน้ำเงินผู้ติดเชื้อแต่ละวันได้ทะลุการคาดการณ์เส้นสีน้ำตาลแล้ว แสดงว่าตอนนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาจละเลย เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มตาม แม้จะไม่ได้เพิ่มมาก แต่ต้องระวังกลุ่ม 608 ผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง" นพ.จักรรัฐ กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง : ย้ำ! ตรวจATK เป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 352 views