สปสช.จับมือคณะสงฆ์ พร้อมส่วนราชการ จ.นครสวรรค์ รวม 19 หน่วยงาน ลงนามขับเคลื่อนความร่วมมือพลัง “บวร” สร้างสังคมสุขภาวะ เล็งใช้กลไก “อ.ป.ต.” ในวัดกว่า 129 แห่งทั่วจังหวัดเป็น “ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ” กระจายข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุข-ให้ความรู้ระบบหลักประกันสุขภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ พระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และ คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นำโดย นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และตัวแทนส่วนราชการรวม 19 หน่วยงาน ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนความร่วมมือพลังบวร (บ้าน วัด ราชการ) เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ โดยกลไกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) นำร่อง จังหวัดนครสวรรค์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2567
สำหรับแผนดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ กับจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยส่วนราชการในจังหวัดและระดับเขต รวม 19 หน่วยงาน ที่จะขับเคลื่อนงานตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ. 2560 ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม 8 ประการของ อ.ป.ต. เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ยึดหลัก "บวร" คือ บ้าน วัด และโรงเรียนหรือราชการ ร่วมแรงร่วมใจในการนำพาสังคมเป็นสังคมสุขภาวะ เกิดความสงบ ร่มเย็น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
พระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ภายใต้แผนการขับเคลื่อนนี้จะใช้กลไก อ.ป.ต. ใน จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีทั้งสิ้น 129 แห่ง หรือตำบลละ 1 วัด เพื่อร่วมส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชน และนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาพัฒนาชุมชน ส่งเสริมสุขภาพกายและใจ ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาสัมมาชีพและสงเคราะห์ชุมชน โดยดำเนินงานร่วมกับ 19 หน่วยงาน และภาคีเครือข่ายอีก 9 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ คือ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข”
“ในอดีตวัดนั้นเป็นศูนย์กลางของประชาชน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องไปที่วัด ซึ่งกลไก อ.ป.ต. นั้นเกิดขึ้นโดยคณะสงฆ์ตั้งแต่ปี 2518 มีหน้าที่ส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน 8 ด้าน ได้แก่ ด้านศีลธรรมและวัฒนธรรม ด้านสุขภาพอนามัย ด้านสัมมาชีพ ด้านสันติสุข ด้านศึกษาสงเคราะห์ ด้านสาธารณสงเคราะห์ ด้านกตัญญูกตเวทิตาธรรม และด้านสามัคคีธรรม โดยความร่วมมือของพลัง บวร ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะบรรลุหลักธรรม 8 ด้านดังกล่าวให้สำเร็จ และหวังเป็นต้นแบบที่ขยายสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป” พระเทพปริยัติเมธี กล่าว
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า หน่วยงานราชการมีหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน และการดำเนินการในชุมชนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในชุมชน โดยเฉพาะวัดหรือพระสงฆ์ ซึ่งนับเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญอย่างยิ่งในชุมชน และหน่วยราชการเกือบทั้งหมดก็มีการทำงานร่วมกับพระสงฆ์อยู่แล้วในหลายๆ ด้าน
“การจัดทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะถือเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างคณะสงฆ์ ร่วมกับหน่วยงานราชการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดแผนงาน โครงการ และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้ง 4 แผนงาน และ 7 โครงการย่อย ภายใต้แผนระยะ 3 ปี ซึ่งจะมีการติดตามประเมินผลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย” นายชยันต์ กล่าว
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แม้แนวคิดการของใช้วัดเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขนั้นจะมีมานาน แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์โควิด-19 วัดได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญในการสนับสนุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือการทำหน้าที่เป็นศูนย์พักคอย หรือศูนย์กักตัวให้กับทั้งพระสงฆ์และประชาชน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เมื่อเห็นถึงจุดแข็งของ อ.ป.ต. ใน จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีถึง 129 แห่ง สปสช.จึงได้วางแผนและประสานกับเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้เป็น “ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ” โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์ต้นแบบ 29 แห่ง ภายในปี 2565 หลังจากนั้นจะพัฒนาต่อเนื่องจนครบ 129 แห่งภายใน 3 ปี นอกจากนี้ยังได้ความกรุณาจากรองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ที่จะมีการเตรียม “กัณฑ์เทศน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อสื่อสารให้กับประชาชนที่มาทำบุญที่วัดในเทศกาลสำคัญอีกด้วย
“หลังจากนี้วัดก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุข ให้ความรู้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพต่างๆ ส่งเสริมการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น รวมถึงประเด็นสุขภาพอื่นๆ หรือหากประชาชนไม่พอใจในระบบบริการ ก็สามารถใช้พื้นที่วัดในการแลกเปลี่ยนพูดคุย นำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อมาปรับปรุงระบบบริการในอนาคตได้ และเมื่อดำเนินการได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็จะมีโอกาสขยายไปสู่พื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน พญ.ศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีโครงการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ซึ่งการมี อ.ป.ต. ทั้ง 129 แห่งมาเป็นหน่วยงานหลักของคณะสงฆ์ จะเป็นทิศทางที่ดีในการดำเนินการพระคิลานุปัฏฐากอย่างเป็นระบบ และเพิ่มให้ครอบคลุมทุกวัดภายใน 3 ปี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพพระสงฆ์และประชาชนในชุมชน
อนึ่ง ส่วนราชการจำนวน 19 หน่วยงาน ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ประกอบด้วย 1. คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ 2. จังหวัดนครสวรรค์ 3. คณะกรรมการอำนวยการอบรมประชาชนประจำจังหวัดนครสวรรค์ (อ.ป.จ.) 4. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ 5. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 นครสวรรค์ 6. ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ 7. ที่ทำการปกครองจังหวัดนครสวรรค์ 8. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์
9. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์ 10. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครสวรรค์ 11. สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ 12. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครสวรรค์ 13. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ 14. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครสวรรค์ 15. มณฑลทหารบกที่ 31 16. องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ 17. กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ 18. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 (นครสวรรค์) 19. ศูนย์สุขภาพจิตที่ 3
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 146 views