คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบคำนิยามโควิดสู่ “โรคประจำถิ่น” ต้องระบาดไม่รุนแรง อัตราตายไม่มาก 1 ต่อพัน ประชาชนมีภูมิต้านทานมาก เช่น รับวัคซีนโควิด 2 เข็มเกิน 80% โดยสธ.กับกรมควบคุมโรคเตรียมจัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียดบริหารจัดการภายในประเทศให้ได้ภายใน 1 ปี พร้อมตั้ง “คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่”โรงพยาบาลชุมชน
เมื่อเวลา11.50 น. วันที่ 27 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการในการดำเนินการพิจารณาโรคโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” เพื่อให้เป็นแนวทางดำเนินการ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวความคิดว่า โรคโควิดมีการระบาดมาแล้วกว่า 2 ปี และมีทิศทางดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีลักษณะรุนแรง เป็นไปตามหลักวิชาการ และประเทศไทยก็ไม่อยากให้เป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวเอง ที่ต้องปล่อยระยะเวลาไป จึงต้องมาหาทางบริหารจัดการให้ดี ซึ่งคำว่า โรคประจำถิ่น เป็นคำนิยาม ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเกณฑ์
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า โดยหลักการคำว่า โรคประจำถิ่น ต้องไม่ค่อยรุนแรง แต่ระบาดได้ มีอัตราตายที่ยอมรับได้ มีอัตราตายไม่มาก มีการติดเชื้อเป็นระยะๆ ได้ โรคต้องไม่รุนแรง มีภูมิต้านทานพอสมควร ระบบการรักษาพยาบาลต้องมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องแปลงเป็นตัวเลข อย่างอัตราตายต้องเท่าไหร่ เช่น ป่วย 1 พันคนเสียชีวิต 1 คน ต้องบริหารจัดการไม่ให้เสียชีวิตเกิน 1 คน ถ้าเกินถือว่ารุนแรง จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดี ทั้งวัคซีน ทั้งการป้องกันตัวเอง การบริหารจัดการต่างๆ
“อย่างการส่งเสริมให้คนมีภูมิต้านทานมากขึ้นโดยวัคซีนนั้น สำหรับโอมิครอน หากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็มเกิน 80% ก็ถือว่ามีภูมิคุ้มกันได้ แต่ต้องร่วมกับปัจจัยอื่นๆรวม 3 หลัก ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ไปสร้างกลไก หลักการ กำหนดระยะเวลาต่างๆ เพื่อให้เป็นโรคประจำถิ่น” ปลัดสธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการวางแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ ภายในปีนี้ได้หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วางแผนให้เป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ น่าจะได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้การฉีดเข็ม 2 มีการฉีดได้เท่าไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 70-75% ซึ่งก็ดำเนินการตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องพิจารณาหลายๆปัจจัย แต่หลักๆ มี 3 อย่าง คือ อัตราเสียชีวิตลดลง มีการสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้นอย่างการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล แต่ทั้งหมดก็ต้องดูสอดคล้องกับการระบาดด้วย โดยต้องเป็นโรคระบาดทั่วไปที่เป็นโรคประจำถิ่น แต่ตอนนี้ยังเป็นโรคระบาดที่ติดต่ออันตราย กระบวนการต้องถอดโรคติดต่ออันตรายลงมาเป็นโรคติดต่อทั่วไป ต้องมีกฎหมายให้สอดคล้องกัน ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลแม้จะเป็นโรคประจำถิ่น ทางรัฐบาลก็รักษาโรคให้อยู่แล้ว มีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่แล้วแต่ละท่าน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นจำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์จากทั่วโลกด้วยหรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า ดูประกอบ แต่เราก็ต้องพิจารณาแนวทางบริหารของเราเองด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำแซงใคร เดิมต้องมารอให้ใครประกาศ ก็จะไม่มีตัวชี้วัดว่า เราจะทำอย่างไร แต่หากเรามีการกำหนดการบริหารจัดการควบคุมโรคของเราก็จะดี และเพื่อให้ประชาชนทราบด้วย
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องรอทางองค์การอนามัยโลกประกาศก่อนหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า อันนี้เป็นการจัดการบริหารควบคุมโรคภายในประเทศ ซึ่งบางอย่างก็ต้องรอองค์การอนามัยโลก อย่างหากเป็นกฎหมายกฎเกณฑ์ของเขาก็ต้องรอ ซึ่งเราต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
“ขอย้ำว่า การพิจารณาแนวทางเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น เป็นหลักการบริหารจัดการควบคุมโรคของประเทศไทย โดยเราจะมีการวางแผนว่า จะจัดการเป็นโรคประจำถิ่นได้กี่เดือน ยกตัวอย่าง หากกำหนดไว้ 6 เดือนถึง 1 ปี ก็จะมีการกำหนดว่า 3 เดือนแรกทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะมีการพิจารณาและเสนอแผนอีกครั้ง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
เมื่อถามว่า การเป็นโรคประจำถิ่นจำเป็นต้องไม่พบผู้เสียชีวิตหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีเสียชีวิต แต่ต้องไม่มาก อย่างไข้เลือดออกก็ยังมีผู้เสียชีวิต อย่างกรณีโควิดก็ประมาณ 1 ต่อพันราย แต่ทั้งหมดก็ต้องพิจารณารายละเอียด และจะมีการกำหนดเกณฑ์ตัวเลขออกมาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็ควรต้องมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยต่ออีกหรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า ยังควรมีการสวมใส่ หรืออาจจะต้องสวมในคนที่ป่วย แต่ทั้งหมดต้องรอการพิจารณา เพราะจะมีมาตรการตามมาอีกครั้ง
เมื่อถามว่า ณ วันนี้สามารถลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน
เมื่อถามว่า กังวลเรื่องการระบาดของอินเดียที่อาจแพร่มาไทยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราพร้อมสู้ ขณะนี้ป่วยเหลือ 7-8 พันราย จากอดีต 2-3 หมื่นราย แต่เราก็จับตาตลอด มีการประชุมตลอด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล การจะเป็นโรคประจำถิ่น เราก็ติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างการกลายพันธุ์เราก็ติดตาม แต่ทั้งหมดเราใช้ผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง อย่างโอมิครอน เราไม่ได้ดูสายพันธุ์ย่อย เราดูความรุนแรง ผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต หากกลายพันธุ์แต่ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยน แสดงว่าสายพันธุ์ย่อยไม่ได้มีผล
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เนื่องจากประเทศไทยยังต้องมีการดำเนินการฉีดไปอีกสักระยะหนึ่ง จึงเห็นชอบหลักการให้มีการจัดตั้ง “คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่” ซึ่งเด็กมีอยู่แล้ว โดยจะเป็นฟังก์ชันเฉพาะขึ้นมาในโรงพยาบาล ซึ่งจะให้ฉีดวัคซีนโควิด และวัคซีนอื่นๆ โดยกระทรวงฯ จะปรึกษาหารือเรื่องนี้ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม
สำหรับสถานการณ์โอมิครอน ขณะนี้พบในไทย 90% มาจากต่างประเทศ 100% ส่วนความรุนแรงเป็นไปตามข้อมูล คือรุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตต่ำ ปัจจุบันตรวจกว่าหมื่นคน มีติดเชื้อรายใหม่ 90กว่า% ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี(ขวดสีส้ม) โดยรับทราบจากกระทรวงศึกษาธิการมีเด็กยินยอมฉีดประมาณ 70% ซึ่งมีวัคซีนเข้ามาแล้ว 3 แสนโดส และจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน
“นอกจากนี้ อยากขอความร่วมมือสำหรับคนฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯ ขอให้มาฉีดเข็มกระตุ้น คือ แอสตร้าฯ ส่วนซิโนฟาร์ม ซิโนฟาร์ม ก็จะตามด้วยแอสตร้าฯ เช่นกัน ซิโนแวคกับซิโนแวคก็ตามด้วยแอสตร้าฯ เช่นกัน ขอให้มาฉีดตามแผน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
เมื่อถามว่าคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ จะเปิดในโรงพยาบาลระดับใด นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งบางสถานที่มีความจำเป็นอย่างห่างไกลมาก อำเภอใหญ่มาก มีพื้นที่กว้างก็ต้องมีการจัดตั้ง ซึ่งหลายที่มีการดำเนินการแล้ว แต่ครั้งนี้จะมีนโยบายให้ดำเนินการ ว่า ให้มีการดำเนินการเป็นประจำในสถานพยาบาล
- 78 views