บอร์ดควบคุมยาเสพติดส่วนสธ. เห็นชอบร่างประกาศปลดล็อก “กัญชา” ออกจากชื่อยาเสพติด ส่วนจะออกเป็นกฎหมายใช้ได้จริงต้องรอบอร์ด ป.ป.ส.ชุดใหญ่ 25 ม.ค.นี้  พร้อมให้ข้อมูลปลูกแบบไหน ใช้อย่างไร ไม่ขัดกฎหมาย

ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด   ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. ในฐานะผู้แทนปลัด สธ.เป็นประธานการประชุมพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ... ในประเด็นการถอดกัญชา กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (ยส.5)  โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว และเตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พิจารณาชี้ขาดในวันที่ 25 ม.ค.2565

(ข่าวเกี่ยวข้อง: “อนุทิน” ลั่นบอร์ดควบคุมยาเสพติดส่วน สธ.เห็นชอบปลด “กัญชา” ออกจากยาเสพติด รอคกก.ป.ป.ส.ชี้ขาด

โดยหลายคนยังสงสัยว่า หากบอร์ด ป.ป.ส. เห็นชอบแล้วจะสามารถปลูกกัญชา และใช้ได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่....

 พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ข้อมูลว่า  ต้องขอเรียนว่า ในที่ประชุมเราไม่ได้เปิดคำว่าปลูกกัญชาเสรี 100% แต่ต้องมีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องปลูก  ซึ่งจะเกิดภายหลังที่เรารู้ว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว ก็จะเหมือนเหล้า บุหรี่ ที่เราออกมาตรการมาควบคุม ส่วนกรณีนำไปใช้เป็นประเภทไหน เช่น อาหาร ก็ต้อง พ.ร.บ. อาหาร หากเป็นเครื่องสำอาง ก็จะเป็นพ.ร.บ. เครื่องสำอาง  การปลูกก็จะมีกฎหมายเฉพาะ เหมือนพืชกระท่อม  

ส่วนความกังวลว่า หากเรากำหนดยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะสารสกัดกัญชาแล้วจะเป็นการเสพติดหรือไม่ ตนยืนยันด้วยข้อมูลวิชาการ Drug and Alcohol พ.ศ.2554 ระบุว่า บุหรี่ นับแต่เริ่มสูบจะเสพติด 67.5% เหล้า 22.7% และกัญชา 8.9% ฉะนั้น เหล้า บุหรี่ใช้มาตรการควบคุมอย่างไร กัญชาก็ต้องมีมาตรการควบคุมต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ที่ไม่ใช่ฐานะยาเสพติด

นพ.ไพศาล กล่าวเสริมเรื่องการปลูกกัญชา สามารถปลูกได้ในทุกส่วนหรือไม่ ว่า   หลังจากที่รมว.สาธารณสุขลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งตามเจตนารมณ์ของประมวลยาเสพติดฯ คือ ไม่มีกัญชา เป็นยาเสพติด แล้วในร่างดังกล่าว ก็ไม่ระบุชื่อกัญชาในยาเสพติดแล้ว ฉะนั้น จะมีเพียงสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก ที่ยังเป็นยาเสพติด
 
ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พัน ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด  กล่าวเสริมว่า  ข้อมูลวิชาการ Drug and Alcohol พ.ศ.2554 ระบุว่า บุหรี่เมื่อเริ่มสูบมวนแรก มีอัตราการเสพติด 67.5 % เหล้าเมื่อเริ่มดื่มครั้งแรกจะมีการเสพติด  22.7 % ส่วนกัญชาเมื่อมีการสูบครั้งแรกจะมีการเสพติด 8.9 %  เพราะฉะนั้น  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่มีการควบคุมอย่างไร กัญชาก็จะมีการควบคุมในลักษณะนั้น  แต่ต้นกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว สารสกัดที่มีTHCเกิน 0.2 %ถึงจะเป็นยาเสพติด  แต่แม้จะเกิน 0.2% ก็ยังสามารถขอใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิจัยได้

เมื่อถามถึงการครอบครองหรือการค้า จะไม่เป็นความผิดอีกต่อไปใช่หรือไม่ นพ.ธงชัย ตอบว่า  หากกฎหมายไม่ระบุเป็นยาเสพติดต่อไปแล้ว ก็ไม่เป็นโทษทางกฎหมาย

ส่วนคำถามว่า กรณีเมทแอมเฟตามีน ก็ไม่ถูกระบุในประมวลยาเสพติดฯ เช่นกัน จะอยู่ในสถานะเดียวกับกัญชาหรือไม่..   นพ.ธงชัย  ให้คำตอบ ว่า  เราจึงต้องมาหารือกันว่า ยังสมควรให้กัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 หรือไม่ ซึ่งจากการศึกษา สถิติการทำเดินคดีกับผู้เสพกัญชาที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับแอมเฟตามีนมันเทียบกันไม่ได้ เพราะโทษต่างกันชัดเจน

ขณะที่พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวเสริมว่า  เรื่องนี้เป็นคำถามที่ดี แต่ต้องดูเจตนารมณ์กฎหมาย เพราะการอภิปรายในสภาฯ ยึดการพิจารณามาตราเกี่ยวข้องกับกัญชา พูดชัดเจนว่า มีเจตนาว่าไม่ต้องการให้เป็นยาเสพติด และที่แน่ชัดคือ มีหนังสือจากคณะกรรมาธิการ ถึง รมว.สาธารณสุข แนบรายงานผลการศึกษาความจริงเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ของราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย มีประโยชน์อย่างมาก โดยเขียนในตอนท้ายชัดเจนว่า ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วจะมีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้ ซึ่งย้ำทิ้งท้ายว่า ไม่ควรจะทำประกาศสธ.โดยระบุชื่อกัญชาให้เป็นยาเสพติดให้โทษอีก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์ สร้างประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org