สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบล่าสุดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว พบว่ามีแนวโน้มมากขึ้น จนต้องระงับการเปิดรับชาวต่างชาติที่ผ่านการตรวจเชื้อเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวหรือ Test & Go สถานการณ์ปัจจุบันกล่าวได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าสช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้กว่าเท่าตัว ทำให้จำนวนเตียงในโนงพยาบาลไม่เพียงพอ

ระบบการดูแลรักษาของจังหวัดภูเก็ตจะแยกระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติ โดยชาวต่างชาติที่พบว่ามีอาการก็จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการก็จะรักษาตัวใน Hospitel หรือ Hotel Isolation (โรงแรมกักตัว) ขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ จึงเน้นการรักษาในระบบ HI (Home Isolation) หรือกักตัวเองที่บ้าน แต่มีบางส่วนที่มีข้อจำกัดในการกักตัวที่บ้าน ก็จะเข้าระบบ CI (Community Isolation) ศูนย์พักคอยชุมชน หรือโรงพยาบาลสนาม แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ก็ได้ปิดไปแล้ว ทำให้รองรับได้น้อยลง ดังนั้นแนวทางในสถานการณ์ขณะนี้จึงจำเป็นต้องคัดกรองผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด ทำให้ 'คลินิกอุ่นใจ' ศูนย์ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกซึ่งเปิดมาตั้งแต่ช่วงการระบาดระลอกก่อนกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง

คลีนิกอุ่นใจตั้งอยู่ในหอประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จะเปิดให้ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกเข้ามารับบริการตรวจวินิจฉัยและรักษา ซึ่งจะพิจารณาตามอาการ หากเป็นกลุ่มสีเขียวจะรับยากลับบ้าน ส่วนกลุ่มที่มีอาการหรือสีเหลืองก็จะส่งต่อยังโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็น Call Center ให้คำปรึกษาแนะนำในทุกด้าน อาทิ การรอเตียง ขั้นตอนการรักษา สิทธิการรักษา การรับยา

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการคลินิกอุ่นใจในรอบนี้ยังคงเน้นให้คำปรึกษาในรูปแบบเป็นศูนย์บริหารจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครบวงจร (One stop service) แต่จะเปลี่ยนมาเป็นแนวทาง Home Isolation (HI) มากขึ้นเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้ว เนื่องจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า แต่ผู้ติดเชื้อสายพันธ์โอมิครอนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวซึ่งไม่มีอาการ

“ถ้าผลตรวจ ATK เป็นบวกก็สามารถเดินทางหรือโทรเข้ามาที่คลินิก เพื่อขอคำปรึกษาหรือเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งเบื้องต้นหากไม่มีอาการจะเน้นรับยาเข้าระบบ HI หรือหากมีอาการก็ส่งเข้าโรงพยาบาลดูแลต่อไป ซึ่งแต่ละอำเภอก็จะมีศูนย์คอลเซนเตอร์ของแต่ละแห่งไว้รองรับอีกทางหนึ่ง”

สสจ.จังหวัดภูเก็ต เสริมด้วยว่าความแตกต่างที่เห็นได้ชัดในครั้งนี้ คือ ประชาชนเริ่มเปลี่ยนมุมมองหรือ Mindset รับแนวทางการรักษาในระบบ HI ได้มากขึ้น ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนมากขึ้น ยกเว้นบางส่วนที่ไม่สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ เช่น สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หรือ มีกลุ่ม 608 อยู่ด้วยเป็นต้น อาจจะต้องเข้าระบบ Community Isolation (CI) แทน ทำให้ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลสนาม 2 แห่งยังว่างอีกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วน CI ก็มีครอบคลุมทุกอำเภอแล้ว

“แนวทางตอนนี้หากตรวจ ATK เจอแล้วไม่มีอาการจะให้รักษาอยู่บ้านให้ยากินเป็นหลัก ไม่ต้อง RT-PCR แต่ถ้ามีอาการสามารถติดต่อประสานงาน เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามหรือ CI ต่อไป” นายแพทย์สสจ.ภูเก็ตยืนยันถึงแนวทางการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ซึ่งการเข้ามาของเชื้อโควิดกฃายพันธ์สายพันธ์โอมิครอนแม้จะแพร่กระจายรวดเร็วแต่ไม่มีอาการรุนแรง เขาหวังว่าหากพ้นการระบาดระลอกนี้ไปแล้วก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมาถึงที่สุดแล้วโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นซึ่งไม่รุนแรงหรือไม่

 

ภาพจาก facebook โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต