"อนุทิน" นำผู้บริหารสธ.แถลงสถานการณ์ "โอมิครอน" ลดความตื่นตะหนกประชาชน ชี้หากภาพรวมดีขึ้น สธ. พร้อมศบค.ผ่อนคลายมาตรการ ด้านปลัดสธ. เผยหากแนวโน้มดีต่อเนื่อง สธ.เตรียมพิจารณาลดระดับการเตือนภัยโควิด จากปัจจุบันระดับ 4 เร่งฉีดเข็มบูสเตอร์โดสพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ 50%ใน 1-2 เดือน ย้ำ! ระยะเวลาตรวจ ATK
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดแถลงข่าวด่วน! สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ตนและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอถือโอกาสให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบัน ซึ่งอยากนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อลดความตื่นตระหนก
โดยตั้งแต่ปีใหม่จนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยโควิดจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีโอมิครอนระบาดในไทย แต่เรื่องการรักษาพยาบาล ตลอดจนความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่อาการหนักต้องอยู่ไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตแต่ละวันตั้งแต่ปีใหม่ถึงขณะนี้มีจำนวนค่อนข้า งขาลง อยู่ในจำนวนไม่เกิน 20 รายมาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้เราค่อนข้างมั่นใจ ประกอบกับข้อมูลวิชาการต่างๆ ก็ค่อนข้างแนวเดียวกันว่า เชื้อโอมิครอน แม้จะติดเชื้อง่ายแต่ความรุนแรงไม่เท่าเดลตา
"ในฐานะเป็นภาครัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันต่อประชาชนว่า ตัวผมเอง ท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรี พร้อมจะสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เสนอโดยคณะแพทย์ จากสถานบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่สุด ส่วนมาตรการต่างๆหากทุกอย่างมีแนวโน้มดีขึ้น ทางสธ.จะทำการเสนอ ศบค.ให้ผ่อนคลายมาตรการมากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และขณะเดียวกันหากมีเหตุใดสุ่มเสี่ยง ทางสธ.ก็พร้อมชี้แจงและเสนอมาตรการเพื่อย้ำความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก" นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการระบาดสะสมเกือบ 320 ล้านคน แต่ผู้เสียชีวิตเริ่มลดลง โดยเสียชีวิตสะสมประมาณ 5.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทยผู้ติดเชื้อวันนี้ในประเทศ 7,916 คน จากต่างประเทศ 242 คน มีผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นกลุ่ม 608 จำนวน 13 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบมี 510 ราย ต้องใส่ท่อช่วยจำนวน 105 ราย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ 14 วัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงแรกของสัปดาห์ในเดือนม.ค. แต่ขณะนี้ค่อนข้างทรงตัว และอาจลดลงได้ ส่วนผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลงมากเท่าที่เรามี เหลือ 105 รายด้วยกัน
00 เตรียมพิจารณาลดระดับการเตือนภัยโควิด
"ส่วนการเตือนภัยโรคโควิดขณะนี้อยู่ในระดับ 4 คือ ให้ประชาชนนอกจากการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล ยังให้ลดเข้าสถานที่เสี่ยง และชะลอการเดินทาง ซึ่งจะพิจารณาในระยะถัดไปว่า หากสถานการณ์ดีขึ้นจะลดระดับการเตือนภัยลง" ปลัดสธ.กล่าว
จากสถานการณ์แนวโน้มการคาดการณ์โดยกรมควบคุมโรค ช่วงแรกการระบาดค่อนข้างรวดเร็ว ขึ้นไปตามเส้นกราฟสีเทา ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ มาตรการหย่อนยาน หรือไม่ได้ผล ส่วนสีเขียว มาตรการดี ส่วนสีแดง คือ มาตรการปานกลาง เท่าที่ผ่านมาเราอยู่เส้นสีเขียว แต่ตัวโอมิครอน เมื่อมีการระบาดจะรวดเร็วมาก ทำให้ช่วงแรกมีการระบาดเป็นไปตามเส้นสีดำ แต่หลังจากมีการเตือน ได้รับความร่วมมือดีจากทุกภาคส่วน เมื่อรู้ตัวเราระมัดระวังขึ้น การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่ ลดลงบางคน จึงมาแตะเส้นสีแดง ซึ่งเส้นสีน้ำเงินที่เป็นการรายงานปกติทุกวันนี้ก็จะไปเจอเส้นสีเขียวได้โดยเร็ว เราก็พยายามควบคุม ส่วนอัตราตายอยู่อันดับต่ำกว่าเส้นสีเขียว ถือว่าดีมาก เป็นผลมาจากตัวโรคความรุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น เพราะร่วมมือกันฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 บางท่านก็บูสเตอร์เข็ม 3 และกลุ่มมีความเสี่ยงก็บูสเข็ม 4 ซึ่งเมื่อภูมิฯดีโรคก็จะอ่อนแอลง และอยู่กับโรคได้ปลอดภัยขึ้น
00 ฉีดวัคซีนสะสมแล้วกว่า 108 ล้านโดส เร่งฉีดเข็มบูสเตอร์โดสพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ 50%ใน 1-2 เดือน
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนสะสมวันนี้อยู่ที่ 108,594,507 โดส ถือว่าฉีดได้มาก โดยต้นปีได้ปรับฐานประชากรใหม่จากกระทรวงมหาดไทย โดยเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากร 76.92% ส่วนเข็ม 2 ครอบคลุม 70.32% เข็ม 3 ครอบคลุม 13.63% ซึ่งเข็มสามขึ้นเร็วมาก เมื่อวานฉีดมากถึง 337,033 โดส โดยเข็มที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหรือแซนด์บ็อกซ์ อยากให้ถึง 50% โดยเร็วใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งเราพยายามเร่งฉีดวัคซีน หากทำได้ถือว่าประเทศปลอดภัยอีกระดับหนึ่ง
สำหรับกระทรวงสาธารณสุข วางมาตรการรับมือโอมิครอน 4 ส่วน คือ 1.มาตรการสาธารณสุข โดยต้องชะลอการระบาด เนื่องจากโอมิครอนติดเร็ว หากเร็วมากอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุข แม้จะไม่รุนแรง แต่หากระบาดซ้ำ เราเกรงว่าจะเกิดในเดลตา อาจเกิดกลายพันธุ์ได้ แต่ที่ทำมา 14 วันแผนการชะลอการระบาดถือว่าควบคุมได้ดี ไม่ได้ระบาดรวดเร็วจนโกลาหล อยู่ในการควบคุม จึงต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : คร.ประมวลผลศึกษาวัคซีนโควิดทุกสูตร พร้อมไล่เรียงลำดับการฉีดชนิดไหนมาก่อนมาหลัง..)
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือในการฉีดวัคซีน หากพบว่าใครยังไม่ฉีดขอให้เชิญชวนมาฉีดวัคซีน และขอให้คัดกรองตัวเองด้วย ATK หากใครมีความเสี่ยงมากให้ตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หากมีความเสี่ยงน้อยคัดกรองสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 สัปดาห์ครั้ง เพราะการติดเชื้ออาจไม่ทราบว่าติดหรือไม่ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทั้งนี้ กรมวิทย์ได้ติดตามการกลายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบ โดยมาตรการทั้งหมดเน้นตรวจ ATK เป็นหลัก
2.มาตรการการแพทย์ มีระบบสายด่วนประสานผู้ติดเชื้อ เน้นการดูแลที่บ้าน Home Isolation เพราะโรคไม่ร้ายแรง อาการน้อยมากเกือบ 90% และเรามีระบบการติดตาม คอยดูแลจากโรงพยาบาล โดยให้ติดต่อ 1330 หรือคอลเซนเตอร์ในระดับจังหวัด ทั้งนี้ หากดูแลที่บ้านไม่ได้ สามารถดูแลผ่านศูนย์ระดับชุมชน Community Isolation หากอาการรุนแรงขึ้นก็จะส่งรพ.
3.มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด หรือ Universal Prevention สถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด โดยการทำ Covid Free Setting ซึ่งทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ที่สำคัญขอให้ชะลอการเดินทางช่วงนี้ ส่วน4.มาตรการสนับสนุน เรื่องค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าตรวจต่างๆ รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่
"สุดท้ายขอประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันทำ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK สำหรับชุดตรวจ ATK ที่มีการขาดแคลน ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม ได้จัดหาและเตรียมไว้สัปดาห์ละ 1 ล้านเทส ราคา 35 บาท" ปลัดสธ.กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 6 views