ปลัดสธ.เผยโอมิครอนอีก 2 เดือนค่อยๆลด คาดว่าใน 1 ปีอาจเป็นโรคประจำถิ่น แต่ต้องปัจจัยเอื้อ ทั้งวัคซีน ภูมิต้านทานปชช. ไม่กลายพันธุ์เพิ่ม และติดเชื้อไม่รุนแรง ส่วนเทสต์แอนด์โก รอประเมินอีกระยะ ขณะเดียวกันมอบจังหวัดตั้งศูนย์เฉพาะพร้อมเบอร์สายด่วนประจำพื้นที่เสริมจากสายด่วน 1330 รองรับผู้ป่วยผลตรวจ ATK เป็นบวก

 

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นโอกาสที่โควิดจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า การจะเป็นโรคประจำถิ่นต้องดูลักษณะตัวโรคเองว่า ลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน และเรื่องสภาพแวดล้อมต่างๆ มีการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้ เนื่องจากโรคโควิดที่ระบาดรุนแรง เพราะเป็นโรคที่พบอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งตอนนั้นมีอัตราเสียชีวิตถึง 3% และค่อยๆลดลงเหลือ 1% ซึ่งปัจจุบันก็จะต่ำกว่านั้น ถ้าเหลือ 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้

“ส่วนที่ถามว่าจะใช้เวลานานหรือไม่ในการเป็นโรคประจำถิ่นนั้น ได้สอบถามทางกรมควบคุมโรค ขณะนี้เป็นเวฟที่ 4 ซึ่งโอมิครอน หากเป็นไปตามคาดหมายก็น่าจะประมาณ 2 เดือนก็จะค่อยๆลดลงอีกสักระยะ คาดว่าภายใน 1 ปีจะเป็นโรคประจำถิ่น หากเราจัดการตามมาตรการได้ ทั้งการจัดการวัคซีนได้ดี ประชาชนต้องร่วมกันฉีดวัคซีนให้ได้ถึงขนาดที่มีภูมิต้านทาน และโรคไม่ได้กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่ได้รุนแรงมากขึ้นก็จะเป็นโรคประจำถิ่นได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนก็มากขึ้น คนฉีดน้อยลงก็เริ่มน้อยลง โดยใช้ตัวเลขจากฐานทะเบียนราษฎร์ ซึ่งเมื่อได้ลงไปตรวจสอบทุกจังหวัด อย่างบางจังหวัดมีการฉีดวัคซีน 50-60% แต่เมื่อไปสำรวจอีกก็พบว่า ฉีดไปถึง 80% ซึ่งอาจมาจากการเคลื่อนย้าย ขณะนี้กำลังจะทำฐานข้อมูลใหม่ โดยหลักการฉีดไปแล้ว 70กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยมีการฉีดและลงทะเบียนอย่างสมบูรณ์ แต่ตอนนี้กำลังไล่ข้อมูลขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีการทำตัวเลขถูกต้องและครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากช่วงแรกการฉีดอาจไม่มีการลงทะเบียน อย่างไรก็ตาม เข็ม 3 หากฉีดมากขึ้นก็จะช่วยให้เป็นโรคประจำถิ่นได้

เมื่อถามถึงกรณีการระงับเทสต์แอนด์โก จะทำถึงเมื่อไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ก็น่าจะอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากทั่วโลกแม้จะระงับหรือไม่ คนก็เดินทางน้อยลง แต่ขอประเมินเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งไทยก็ไม่ได้ปิดทีเดียว ยังมีระบบแซนด์บ็อกซ์ และคลอรันทีนอีก ยังมีอีก 2 ระบบที่เปิดแง้มไว้ และมีมาตรฐานทั้งหมด

เมื่อถามถึงกรณีปลัดสธ.มอบให้ทุกจังหวัดตั้งศูนย์ประสานงานกรณีประชาชนตรวจ ATK เป็นบวก นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากประชาชนไปตรวจที่สถานพยาบาล หรือคลินิก หากเป็นบวกก็จะมีการจัดการให้ ยกเว้นตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากเจอผลบวกก็สามารถโทร 1330 ของสปสช. ซึ่งระบบนี้จะแอคทีฟได้ดีในพื้นที่ กทม. แต่หากต่างจังหวัดอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ซึ่งเพื่อเตรียมพร้อม ทางกระทรวงฯ ในระดับจังหวัดจึงอยากช่วยสนันบสนุน สปสช. โดยให้ทางจังหวัดมีศูนย์ประสานงานและตั้งเบอร์โทรศัพท์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ไว้รองรับ โดยจะมีการทำงานลักษณะเดียวกับ 1330 ขณะนี้ได้สั่งการให้มีคอลเซนเตอร์ในระดับจังหวัดแล้ว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org