รองนายกฯ และรมว.สธ. มอบอภ.นำเข้า ATK ขายราคาทุน พร้อมให้สปสช.กระจายให้มากที่สุด ขณะเดียวกันย้ำไม่มีการกันเตียงรักษาผู้ป่วย VIP ส่วนกรณี ปชช. ป่วยไม่มีอาการแต่ต้องการรักษา ใน รพ. เพื่อหวังเคลมประกันสุขภาพเอกชน ต้องขอให้เป็นไปตามดุลยพินิจแพทย์ และเป็นไปตามไกด์ไลน์ที่ออกโดยกรมการแพทย์
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหา ATK ขาดตลาด ว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เร่งดำเนินการจัดหา ATK เข้ามาให้มากที่สุด พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระจาย ATK ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านชุดไปยังพื้นที่เป้าหมายให้มากที่สุด ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าปัจจุบันราคา ATK พุ่งนั้น ขณะนี้เชื่อว่าเมื่อเรามีการนำเข้ามามากก็จะเป็นไปตามกลไกการตลาด ราคาจะถูกลง ราคาดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจะมีการขายในราคาต้นทุน
สำหรับเรื่องยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เตียงรวมถึงเตียงก็ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่ แต่จะเน้นกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อยให้รักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือ ศูนย์ดูแลในชุมชน (Community Isolation) เพื่อกันเตียงไว้สำหรับคนมีอาการมากและต้องการการรักษาในรพ.จริงๆ นอกจากนี้ปลัดสธ.ยังได้เซตรพ.สนามเอาไว้หลายแห่ง ซึ่งขณะนี้ปลัดสธ.ได้มีการรายงานว่ายังไม่พบปัญหาอะไร
เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสกันเตียงไว้สำหรับ VIP นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีการกันเตียง อย่างที่บอกว่าเราเน้นการรักษากลุ่มไม่มีอาการ หรืออาการน้อยที่ HI/CI ส่วนกรณีคนที่มีประกันสุขภาพของเอกชน หรือทำประกันเอง อาจจะมีการเพิ่มสิทธิพิเศษ เช่น เรื่องห้อง อะไรต่างๆ ได้ แต่การรักษาโรคพื้นฐานทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ขณะนี้ได้กำชับให้เข้มงวดเรื่องการครองเตียง ไม่ให้มีการเกณฑ์คนมารักษาเพียงเพื่อหวังได้รับการเบิกจ่ายมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งรพ.เอกชนด้วย ต้องดำเนินการทุกอย่างให้เหมาะสม เราจ่ายตามไกด์ไลน์
เมื่อถามย้ำถึงกรณีประชาชนไม่มีอาการแต่ต้องการเข้ารับการรักษาเพื่อหวังเคลมประกันสุขภาพโควิด -19 นายอนุทิน กล่าวว่า การรักษาเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ และเป็นไปตามไกด์ไลน์ที่ออกโดยกรมการแพทย์ ว่าอาการเช่นใดจึงเข้ารับการรักษาในรพ. ย้ำว่ารัฐมีมาตรฐานแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด -19 อยู่
เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทรวงสาธารณสุข รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่า ความเป็นจริง นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าหากกล่าวเช่นนั้นก็ขอให้ไปเอาข้อมูลมา เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีการรายงานต่ำกว่าจริง เรารายงานตามข้อมูลเครือข่ายเฝ้าระวังโรคอยู่แล้ว ไม่มีใครติดตามข้อมูลได้มากเท่ากระทรวงสาธารณสุขแล้ว และตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยปิดบังข้อมูล หรือยักย้ายถ่ายเทข้อมูล เพราะการพูดความจริงจะมีผลต่อการวางนโยบายในการก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อถามถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดวิ่งมาราธอนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ยังสามารถจัดได้ทั้งที่เป็นการรวมคนจำนวนมาก นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตน เพราะการอนุญาตในการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเลขาฯ เป็นผู้พิจารณา
เมื่อถามว่าจะมีการเปิดระบบ Test & Go อีกครั้งเมื่อไหร่ นายอนุทิน กล่าวว่า จะมีการประเมินตามอัตราผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต ซึ่งในช่วง 15-20 ม.ค. จะเห็นล็อตคลัสเตอร์ เฉลิมฉลองเป็นอย่างไร หากอัตราติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิตลดลงก็จะมีการผ่อนคลายมาตรการทันที เพราะที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่ากระทรวงพร้อมปรับมาตรการหากสถานการณ์ดีขึ้น ทั้งนี้ยอมรับว่าหลังเราประกาศชะลอ Test & Go ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงบ้าง แต่เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวที่ค้างท่อ ซึ่งสอบถามกรมควบคุมโรคแล้วว่ามีประมาณ 1-2 หมื่นราย นั้นยังสามารถให้เข้ามาได้ เพราะยังรับไหว โดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางออกไปต่างประเทศตั้งแต่เดือน ธ.ค. ก็อยากให้กลับมาเร็วจะดีที่สุด
เมื่อถามต่อว่า ส่วนกรณีภาคธุรกิจท่องเที่ยวมองว่ากระทรวงมีการสื่อสารเรื่องสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงเกินไป และมีมาตรการที่ส่งผลกระทบฝังกลบการท่องเที่ยว นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี ทุกอย่างดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ไม่มีแรงไป หรือน้อยเกินไป ไม่อยากให้โทษกันไปมา ต่างคนต่างก็ต้องทำหน้าที่
- 24 views