คณะผู้บริหาร สปสช. ลงพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 โคราชหารือแลกเปลี่ยน “การดำเนินการตามนโยบายยกระดับปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้และการกำกับติดตามประเมินผลงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ขยายทั่วประเทศ : 30 บาทรักษาได้ทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ” ปูพรมทำความเข้าใจผู้ให้บริการ-ประชาชน พร้อมให้นิยาม “วอล์คอิน” สำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย-ยาหมด-ทันตกรรมพื้นฐาน-ทำแผลต่อเนื่อง ก่อนขยายนโยบายสู่ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ที่โรงแรม 360 PIP HOTEL ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. มีพญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผอ.สปสช.เขต9 นครราชสีมา ร่วมเปิดการประชุมแลกเปลี่ยน“การดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่ยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ ขยายทั่วประเทศ เริ่ม 1 มกราคม 2565”เป็นต้นไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตามนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) “ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน” ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินงานใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ 2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว 3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ 4. ย้ายหน่วยบริการ ได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่ผ่านมาในปี 2564 ได้เริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) เขต 7, 8,9, 10 และเขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ยังไม่ครอบคลุมในเขตพื้นที่ เขต 1, 2, 3, 4, 5, 6, 11 และ 12 ดังนั้นในปีงบประมาณ 2565 สปสช.จึงเตรียมขยายพื้นที่ดำเนินการในเขตดังกล่าว
“ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ สปสช. เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 8) ซึ่งประกาศนี้จะรองรับนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ ให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ได้เริ่มดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกที่ มาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งจากการรับข้อมูลในช่วงแรกพบว่ามีการเบิกจ่ายในเคสที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นเคสนัดตรวจพิเศษ เป็นเคสที่มีการรับการรักษาต่อเนื่องประจำ หรือเป็นเคสฉุกเฉิน ในภายหลังจึงได้กำหนดนิยามคำว่า “วอล์คอิน”ในการเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“สำหรับนิยามวอล์คอิน ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่ยาหมด มาขอรับยาที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่รักษาเป็นประจำ บริการทันตกรรมพื้นฐาน เช่น ถอน อุด ขูดหินปูน และบริการที่ไม่เข้าข่ายกองทุนย่อย การทำแผลต่อเนื่อง การฉีดวัคซีน ตลอดจนการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดหัว ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ฯลฯ โดยการเบิกจ่ายวอล์คอินนี้จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการจ่ายที่มีในกองทุนอื่น เช่น วัณโรค, มะเร็ง, ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น“ เลขาธิการสปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2565 พื้นที่เขต 9 จะขยายการกำกับติดตามและ ประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมส่งกลับข้อมูลผลการดำเนินงานให้กับหน่วยบริการ สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดอัตราการปฏิเสธหรือไม่รับการรักษาหรือการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์กรณี 30 บาทรักษาทุกที่ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน โดยประชาสัมพันธ์ผ่านโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เคาะประตูบ้าน รวมถึงหน่วย 50(5) เป็นต้น
- 245 views