กว่า 2 ปีซึ่งกฎหมายอนุญาตให้กัญชาในทางการแพทย์ได้มีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปมาก ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดขึ้นที่รอยัล พารากอนฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม มีการประชุมวาการ “กัญชาจากนโยบายสู่พื้นที่ไร้รอยต่อ ต่อยอดเศรษฐกิจ ว่าด้วยสถานการณ์ นโยบาย กฎหมายในการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์สู่การปฏิบัติ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายเสรีกัญชาทางการแพทย์ ที่ผ่านมา 2 ปีครึ่งเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก การใช้พืชตระกูล ก.ไก่ ในการสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็น กัญชา กัญชง หรือ กระท่อม ประชาชนมีความพร้อมมากขึ้นในการตอบรับนโยบายนี้ ประชาชนตอบรับนโยบาย

"สุดท้ายจริงๆอาจจะไม่ใช่การแพทย์อย่างเดียว เราจะเห็นว่าซัพพลายเชนมีการปลูกมากขึ้น ปรับกฏหมายให้มองเห็นว่ายาที่มาจากสมุนไพรต้องมีคนปลูก ต้องมีคนวิจัย สกัด ผลิตและคุณหมอที่เอาไปใช้ ตั้งแต่ต้นทาง" ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าว

ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2562 เพื่อให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ ปลดล็อค กิ่ง ก้าน ใบ ราก ไม่เป็นยาเสพติดสารสกัด CBD ที่มี THC น้อยกว่า 0.2% ทำให้ปัจจุบันมีใบอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว 342 ฉบับ ,ครอบครอบ 570 ฉบับ ,ผลิต (ปลูก) 43 ฉบับ ,นำเข้า 20 ฉบับ, ผลิต (ปรุง) 6 ฉบับ และจำหน่าย 1,803 ฉบับ พื้นที่ปลูกคิดเป็น 55 ไร่ จำนวน 191,811 ต้น มีผู้ป่วนได้รับยา 88,746 ราย และจำนวนยาที่จ่ายไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านขวดหรือซอง ส่วนใหญ่ใช้ในการช่วยนอนหลับ บรรเทาปวดในผู้ป่วยระยะประคับประคอง

"ราก กิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก อย. ก็ได้ไปออกกฎกระทรวงกัญชา เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับกัญชา เพื่อนำส่วนต่างๆเหล่านี้ไปทำประโยชน์ให้คุ้มค่ามากขึ้น กัญชากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ณ วันนี้ มีเครื่องสำอางจดแจ้งแล้วจำนวน 381 รายการ ,ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อนุญาต 8 รายการ และ อาหารอนุญาตจำนวน 2 รายการ เช่น น้ำปลาร้าปรุงรสต้มสุกผสมใบกัญชา และ โลตัสขนมรูปน่องไก่ผสมใบกัญชา กลิ่นบาร์บีคิว" ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าว

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขอบเขตที่กรมกำลังทบทวนพัฒนาในปี 2565 คือกัญชา 50 ต้น ลงมา หรือกัญชาแปลงเล็ก สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนร่วมกับ รพ.สต. ได้ปลูกและมีผลผลิตช่อดอกที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กรมจะมีส่วนสนับสนุนอย่างไร

"ในปี 2565 เราก็จะทบทวนการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ว่าตัวเมล็ดพันธุ์ที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ปลูกนั้นต้องมีคุณภาพ เพราะในปีที่ผ่านมาเมล็ดพันธุ์ที่เราได้รับมาแล้วไม่ได้ตรวจสอบดีเท่าไรทำให้ไม่สม่ำเสมอเรื่องผลผลิต จากการใช้เมล็ดก็อาจเป็นการใช้กิ่งปักชำก็จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้พอสมควร เรายังหวังว่าวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกอยากให้ได้พัฒนาและได้ผลผลิตที่ทางกรมจะได้นำช่อดอกมาผลิตยาให้คนป่วยที่รออยู่ คนป่วยที่เราสำรวจรอน้ำมันกัญชา ตำรับกัญชา เกือบ 3 แสนกว่าคน" นพ.ยงยศ กล่าว

ในขณะที่ การปลูกกัญชาเกินกว่า 50 ต้น นพ.ยงยศ ให้ความเห็นว่าเป็นผู้ปลูกที่มีศักยภาพ เช่น มหาวิทยาลัย หรือองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ ทางกรมจะพัฒนาทำข้อตกลงกับผู้ปลิตเหล่าเหล่านี้ ในการจัดสรรผลประโยชน์ช่อดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกมาผลิตยาให้ทันกับความต้องการ

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่ามีโจทย์การปลูกกัญชามี 3ระดับ คือ1. ปลูกเพื่อการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน หรือการแพทย์ทางเลือก 2.ให้ชาวบ้านได้ปลูก เข้าถึงและมีรายได้ 3.เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ

"ในเลเวล 3 นี่เรามองเห็นในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ หลายๆอย่างที่นำกัญชากัญชงมาใช้เป็นพืชเศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยแผนการดำเนินงานปี 2564-2565 ได้แก่ สถานบริหารที่ให้บริการคลินิกัญชาทางการแพทย์ร้อยละ 100 การบริการคลินิกกัญทางการแพทย์ โครงการกัญชาครัวเรือน 6-9-12 ต้นธนาคารต้นกล้า กลุ่มผู้ป่วย Palliative care เข้าถึงยา โครงการศูนย์เรียนรู้กญชาทางการแพทย์ เขต 8 เป็นต้น" นพ.ปราโมทย์ กล่าว

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า มีการคิดโมเดลการปลูกกัญชา 6 ต้น ซึ่งจะเป็นแซนด์บ็อกซ์ในการเข้าถึงกัญชาในครัวเรือนได้

"เราได้ตั้งธรรมนูญชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้ดูแลกำกับกันเองโดยให้ชาวบ้านโหวตกันเองว่าจะให้ อสม. หรือหน่วยงานของรัฐ คือ รพ.สต. ช่วยกำกับดูแล เมื่อปลูกแล้วก็นำส่วนที่เป็นยาเสพติดส่งให้กับโรงพยาบาล และนำส่วนที่ไม่เป็นสิ่งเสพติดส่งโรงพยาบาลเพื่อผลิตเป็นยา ให้ทาง รพ.สต. ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งโมเดลนี้มีคนที่เกี่ยวข้องมากๆคือการเกษตร เพราะชาวบ้านบางทีเจอปัญหาเรื่องศัตรูพืชก็ดูแลไม่เป็น คณะกรรมการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ บทบาทจริงๆคือเป็นผู้ประสานหลักดึงหน่วยงานอื่นๆที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมกับเราในการช่วยเหลือทางเกษตรกร" ผอ.สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าว