เริ่มจะยิ้มออกกับสถิติผู้เดินทางเข้าประเทศต่อวันสูงสุดที่ตัวเลข 4,487 คนนับแต่เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ไม่ทันไร ภาคการท่องเที่ยวของไทยต้องเจอข่าวร้ายเมื่ออาจมีการยกระดับมาตรการสกัดโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” กลับมาใช้ State Quarantine หรือ การกักตัวผู้เดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้าประเทศ แทน Test & go ซึ่งอนุญาติให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามจำนวนที่กำหนดเดินทางเข้าประเทศโดยตรวจหาเชื้อหากผลออกมาว่าไม่ติดเชื้อก้ไม่จำเป็นต้องกักตัว
การพิจารณาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามียอดผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรวม 63 รายและพบการแพร่ระบาดในประเทศรายแรกแล้ว ขณะที่หลายชาติในยุโรปเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนรัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือให้ทันท่วงที
แน่นอน...คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยว!
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าตัวเลขการเดินทางเข้าประเทศผ่านท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตล่าสุดมีการทำสถิติสูงสุดวันเดียวกว่า 4,000 คน และเดือนธ.ค.นี้มีแนวโน้มจะมีการเดินทางเข้าประเทศไม่น้อยกว่า 80,000 คน เฉลี่ยอยู่ที่วันละกว่า 2,000 คนและอาจมีแตะ 4,000 คนอีก 1-2 วันในสุดสัปดาห์นี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก เป็นตัวบอกว่าเรากำลังมาถูกทาง ขณะเดียวกันยังไม่เห็นสัญญาการยกเลิกบุ๊กกิ้ง หลังการแพร่ระบาดของโอมิครอนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะยอดบุ๊คกิ้งเดือนนี้ถือว่าชาวภูเก็ตพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกระดับเป็น AQ ทุกอย่างอาจจะชะงักอีกครั้ง ทั้งด้วยเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น ความไม่มั่นใจในการได้กลับประเทศตามกำหนด หรือต้องกลับไปกักตัวในประเทศตัวเองอีก รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
เกี่ยวกับความกังวลในสายพันธุ์ใหม่ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มองว่า โอไมครอน คือหนึ่งสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว แต่ยังเร็วไปที่จะบอกว่ารุนแรงหรือไม่ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะได้รับการ swab ที่สนามบิน 100% ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ นั่นหมายความว่าสามารถจำกัดวงได้เร็วเมื่อพบก็นำไปรักษา ซึ่งภูเก็ตทำแบบนี้มาตั้งแต่ 1 ก.ค. ไม่มีการย่อหย่อนลงตรงกันข้ามกลับมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น พร้อมเชื่อมั่นในทีมสาธารณสุขและทีมจังหวัดจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอนได้อย่างดี
สำหรับโครงการ แทน test & go เพิ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นมา โดยมีเงื่อนไขผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ 63 ประเทศ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสและมีผลตรวจ RT-PCR ไม่พบเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจ RT-PCR อีกครั้งที่สนามบินและไปรอผลที่โรงแรม หากผลเป็นลบสามารถท่องเที่ยวได้เลยโดยไม่ต้องกักตัว
“ภูเก็ตดำเนินงานมาด้วยความรอบคอบมาตลอด ถ้าจะมีมาตรการอย่างไรก็ขอให้ภูเก็ตได้ทำตามความเชื่อมั่นและดำเนินการมาโดยตลอด ยังสามารถเป็นประตูรับนักท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อ Test&go หรือ Sandbox ก็มีความพร้อมในการดำเนินการต่อ ไม่ว่าอีกกี่สายพันธุ์เราเชื่อว่าระบบที่เราทำงานสามารถควบคุมการระบาดและทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ อยากวิงวอนรัฐบาลให้เข้าใจหัวอกคนภูเก็ตที่ทำงานมาโดยตลอด” ภูมิกิตติ์ ย้ำ
ขณะที่พงศกร เกตุประภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวว่าหากมองในด้านสาธารณสุขก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน แต่ถ้ามองในมุมการท่องเที่ยวมีผลกระทบอย่างมากแน่นอน ไม่ใช่แค่บุ๊กกิ้งที่วิ่งเข้ามาจะหยุดชะงักไป แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวที่จองมาล่วงหน้าเป็นเดือนจะต้องเคลียร์เรื่องการเข้าประเทศ เอกสารที่ทำมาแล้วแทบจะต้องรื้อใหม่ทั้งหมด
“ถ้าเรายกระดับเพื่อประคองสถานการณ์ไปก่อน การท่องเที่ยวเสียหายแน่นอนแต่ก็ดีกว่าถ้าจะปล่อยให้อีก 2-3 เดือนระบาดมากกว่านี้แล้วมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น แต่ก็ต้องพยายามองหาทางออกให้กับลูกค้าด้วย เช่น กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำยกเลิก Test & go อาจไม่ต้องยกระดับไปถึงการกักตัว 7 หรือ 14 วัน อาจจะเพียง 3-4 วัน หรือถอยกลับไปเป็นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หรือกำหนดเป็นโซน ล็อกในส่วนของจังหวัดนำร่องไว้ก่อน น่าจะเป็นทางออกที่ไม่เลว ค่อยๆถอยไปก่อนอย่าเพิ่งกลับไปจุดเริ่มต้นเสียทีเดียว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสามารถวิ่งควบคู่กันไปได้”
นอกจากการประคองตลาดต่างชาติที่มีสัญญาณดีขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว พงศกร มองว่าอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจได้มากคือ โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพราะเมื่อมีการยกระดับมาตรการตลาดต่างชาติน่จะหายไปแน่นอน ดังนั้นต้องมีการผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศให้เกิดขึ้น โดยล่าสุดยอดบุ๊คกิ้งในเดือนธ.ค. เกินกว่าที่วางไว้เล็กน้อยที่ 35% ส่วนม.ค.ของพังงารวมคนไทยและต่างชาติอยู่ที่ 50% แต่โดยพฤติกรรมของคนไทยจะจองกระชั้นชิด เมื่อสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันหมดแล้วหลังจากนี้จะมีแต่ยอดตกลงเรื่อยๆ
ด้านศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เข้าใจว่าทุกคนกังวลเรื่องความปลอดภัยเพราะยังเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจก็ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน จึงต้องดูว่าความรุนแรงเป็นอย่างไร หากไม่ได้รุนแรงมากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการสีเขียว ไม่กระทบต่อระบบการรักษาหรือเตียงในโรงพยาบาลมากนักก็ไม่จำเป็นต้องถอยไปไกลมาก
“จริงๆ Test & go คือทางออกที่ดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมา และมีความปลอดภัยในระดับหนึ่งเห็นได้จากตัวเลขการตรวจผู้ติดเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวอยู่ในอัตราที่ไม่สูงเลย ซึ่งช่วยการท่องเที่ยวได้เยอะ แต่ถ้าต้องยกระดับมาตรการเป็น AQ กระบี่ก็มีหลายแห่งรองรับแต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ถามว่ากระทบมั้ย มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวแน่นอน เพราะเขาต้องกักตัว นอกจากนี้เวลากลับประเทศเขาก็ต้องโดนกักตัวเพิ่มอีก และช่วงหน้าหนาวของเขาซึ่งเป็นไฮซีซั่นของเราก็จะหมดประมาณเดือนก.พ. เพราะฉะนั้นหากโอมิครอนอยู่ในระดับที่สามารถรับมือได้ และเรายังต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันให้ได้ Test & go ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยากให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน”
ล่าสุดยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า กำลังพิจารณาใช้ระบบกักตัว 7-10 วัน หรือ แซนด์บ็อก (จำกัดให้อยู่เฉพาะในพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยว) แทน test & go ต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วจะมีการใช้มาตรการใดเพื่อเป็นทางออกสำหรับการเดินควบคู่กันไประหว่างเศรษฐกิจและความปลอดภัย
- 332 views