"NIA" ร่วมกับ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด พัฒนา เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (Chula HFNC) ผลิตโดยฝีมือคนไทย เพื่อช่วยกู้วิกฤติผู้ป่วยโควิด พร้อมกระจายให้ รพ.ทั่วประเทศกว่า 500 เครื่อง ชี้ ลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าถึง 1.5 แสนบาท
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ เปิดตัวเครื่องช่วยหายใจ อัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC) เครื่องมือทางการแพทย์โดยฝีมือคนไทย เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินอย่าง ติดเชื้อจากโควิด-19 ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคปอด ฯลฯ พร้อมคาดหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์จากต่างประเทศ ขณะ นี้ ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มนำมาใช้งานจริง และได้ส่งมอบกระจายไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศกว่า 500 เครื่อง
รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต กุมารแพทย์ประสาทวิทยา ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีตัวแปรสำคัญอย่างเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ส่งผลให้โรงพยาบาลต่าง ๆ พบกับวิกฤตใหญ่ คือ มีเครื่องช่วยชีวิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและผลิตเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง หรือ Chula HFNC (Pranamax) เพื่อมาช่วยกู้สถาณการณ์ฉุกเฉินนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือจาก 7 องค์กร ได้แก่ สภากาชาดไทย องค์การอาหารและยา (อย.) สถาบันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (มอก.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"อุปกรณ์นี้ได้เริ่มพัฒนาตั้งแต่เดือน มีนาคม เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการจัดหาชิ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อนำมาทดแทนชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมาเริ่มสร้างตัวทดสอบพื้นฐานขึ้น และพัฒนาจนสามารถใช้งานเครื่องได้จริง จากนั้นจึงขออนุญาตใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์มาตรา 27 วรรค 1 ซึ่งเป็นการสร้างเครื่องมือขึ้นมาใช้และกระจายชิ้นส่วนการใช้งานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จาก อย. โดยเครื่อง Chula HFNC ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้องเป็นที่เรียบร้อย” รศ.นพ.ทายาท กล่าว
เมื่อกล่าวถึงประสิทธิภาพของเครื่องช่วยหายใจ อัตราไหลสูง ซึ่งอ้างอิงจากผลการทดสอบจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากโควิด-19 ที่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือเกิดภาวะโรคปลอดนั่น
รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต กล่าวว่า จากสถิติพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงโดยสายพันธุ์เดลต้ามีมากกว่า 15 % จากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง ที่มีอัตราการไหลสูงกว่าอยู่ที่ 40 - 60 ลิตรต่อนาที แล้วพบว่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจลงได้ อีกทั้งทำให้อาการเหนื่อยลดลง
หลังจากที่ได้ผลิตเครื่องต้นแบบ Chula HFNC ได้นำมาทดสอบในอาสาสมัครปกติทั้งหมด 5 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบที่รักษาตัวในห้อง ICU ทั้งหมด 10 คน ซึ่งผลการรักษาพบว่าได้ผลดีมาก ไม่แตกต่างกับเครื่องมาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตตกที่เครื่องละประมาณ 50,000 บาท ขณะที่หากนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจะอยู่ที่ราว 200,000 - 250,000 บาท จะเห็นว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 150,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง
รศ.พญ.นฤชา กล่าวเสริมว่า ข้อดีของเครื่อง Chula HFNC คือ สามารถนำไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมได้หลากหลายยี่ห้อและมีตัวกรองอากาศให้ด้วย ในขณะที่เครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีข้อจำกัดคือ อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ จะต้องใช้ร่วมกันโดยเฉพาะของยี่ห้อนั้น ๆ ทำให้มีราคาสูง
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ในปี 2564 จนถึงปี 2565 NIA ยังคงเดินหน้าสนับสนุนนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย เพื่อรับมือกับสถาณการณ์ฉุกเฉินอย่าง การระบาดของโรคโควิด -19 ที่ขณะนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดและมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และยกระดับความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้คิดค้นงานวิจัย อาจารย์ - ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มโรงพยาบาล รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพไทยนั้น มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากอดีตเป็นจำนวนมาก ในปีที่ผ่านมา NIA ได้ให้การสนับสนุนนวัตกรรมทางด้านการแพทย์กับสตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ ไปจำนวน 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 19.64 ล้านบาท โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มุ่งเป้าในการรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน การแพทย์ทางไกล เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและตอบโจทย์การรองรับการรักษาโรค
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จคือ “เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบและผลิตชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือจาก NIA โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ และได้รับการอนุญาตจาก อย. ให้สามารถผลิตและใช้งานได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกับการควบคุมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นรายแรก ซึ่งได้มีการนำไปใช้งานกับผู้ป่วยโควิด – 19 และระบบทางเดินหายใจจริงที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และส่งมอบให้กับโรงพยาบาลอื่นทั่วประเทศแล้วกว่า 500 เครื่อง
ทางนายชัยสิทธิ์ ธรรมพีร กรรมการ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมชุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง อธิบายการทำงานของเครื่องนี้ว่า ระบบการทำงานของเครื่องมือประเภทนี้มักจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมักจะมีราคาค่อนข้างสูง บริษัทจึงได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบในการผลิตและทำให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเจ้าอื่น ๆ ในตลาด ช่วยทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงจากเครื่องที่ต้องนำเข้า
นอกจากนี้ Chula HFNC มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สามารถควบคุมอุณภูมิความชื้นอยู่ในระดับที่ดี เพราะผู้ป่วยจากระบบทางเดินหายใจจะมีออกซิเจนเข้าไปในปอดไม่เพียงพอ จึงต้องใช้เครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงวิ่งเข้าปอดเร็ว ซึ่งการเข้าไปนั้นจำเป็นต้องมีความชื้นที่เหมาะสม ถ้าควบคุมความชื้นไม่ดี อาจทำให้คนไข้ติดเชื้อมีความชื้นในปอดได้ ทั้งยังเป็นจุดย้ำแรกที่ต้องระวังและทำให้ดี ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถทำได้ และแผนในอนาคตจะพัฒนาให้แพทย์สามารถสั่งการระบบการทำงานของเครื่องผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์จากที่ต่าง ๆ ลดการพบปะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และสามารถเลือกได้ว่าควรใช้โปรแกรมไหนให้มีความเหมาะสมกับคนไข้ในเวลานั้น
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดท้ายว่า เครื่อง Chula HFNC ได้มีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด และแน่นอนว่า เพราะมันเป็นเครื่องมือใหม่ทำให้มีปัญหาที่ต้องตามแก้ แต่ก็เป็นปัญหาเล็กน้อย ซึ่งจะนำข้อมูลที่เป็นผลลัพธ์นั้นกลับมาให้ชมอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศเกิดความยั่งยืน พร้อมยกระดับการดูแลทางการแพทย์ระดับประเทศ การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากนวัตกรรมนั่น ๆ ได้ถูกนำมาใช้งานจริง จะทำให้มีคุณค่าและเกิดประโยชน์มากมายพร้อมทั้ง ขอขอบคุณในการร่วมใจของทุกคนที่มีส่วนสนับสนุนให้สามารถผลิตเครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูงและนำช่วยชีวิตผู้ป่วยได้สำเร็จ
- 657 views