รพ.จุฬาลงกรณ์ จัดทำ 4 โครงการ “แสงแห่งความหวัง” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาชีพ จัดงานแถลงข่าว “แสงแห่งความหวัง” โครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรค สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านนิทรรศการ ณ โถงกิจกรรม อาคารรัตนวิทยาพัฒน์
นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทย มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและช่วยเหลือประชาชนรวมถึงผู้ด้อยโอกาสด้วยจิตสาธารณะ สิ่งสำคัญยิ่งคือการให้บริการทางการแพทย์และการดูสุขภาพของประชาชน โครงการนี้ได้เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย มีความมุ่งมั่นตั้งใจให้บริการทางการแพทย์แบบครบวงจร โดยทีมคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลและให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยตลอดจนการคิดค้น การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเครื่องมือที่ทันสมัยผนวกกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยาก
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า รพ.จุฬาลงกรณ์ มีความสามารถทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่มีศักยภาพสูง สามารถให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนได้เป็นอย่างดี สำหรับในปีนี้ คณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล บุคลากร ทีมสนับสนุนจากทุกสหสาขาวิชีพ อาทิ ฝ่ายรังสีวิทยา ฝ่ายศัลยศาสตร์ ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ ฝ่ายจักษุวิทยา ได้ร่วมกันจัดทำโครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
- โครงการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน ดำเนินการรักษาผู้ป่วยจำนวน 72 ราย
- โครงการผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ดำเนินการรักษาผู้ป่วย จำนวน 72 ราย
- โครงการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ดำเนินการรักษาผู้ป่วยจำนวน 36 ราย
- โครงการตาดี ดำเนินการรักษาผู้ป่วยจำนวน 36 ราย
โครงการดังกล่าวจึงเป็น “แสงแห่งความหวัง” เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนโดยไม่คิดมูลค่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลประโยชน์สูงสุด เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่มีศักยภาพ มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัย มีความแม่นยำ ปลอดภัย และผลข้างเคียงต่ำ มาช่วยในกระบวนการรักษา ในเวลาที่เหมาะสมที่สุด ลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว และกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างมีความสุขต่อไป
โครงการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน
รศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนายกสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หรือโครงการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน
ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทำการติดตั้งเครื่องรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเครื่องแรกของประเทศไทยและในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้หายมีสุขภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งอนุภาคโปรตอนมีความแม่นยำสูงมากในการรักษาโรค
การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนจึงได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานอย่างยิ่งในผู้ป่วยมะเร็งในอวัยวะจุดที่สำคัญและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยรังสีรุนแรง ได้แก่ มะเร็งบริเวณตา สมอง ฐานสมอง ไขสันหลัง ตับ โพรงอากาศข้างจมูก เส้นประสาทสมอง หลังเยื่อบุช่องท้อง มะเร็งศีรษะและลำคอที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ มะเร็งเด็ก มะเร็งในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากรังสี และมะเร็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยรังสีซ้ำเป็นครั้งที่สอง
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับการฉายรังสีแบบปกติ (รังสีเอ็กซ์) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ทำให้แพทย์รังสีรักษาจะต้องลดปริมาณรังสีในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตน้อยลงเนื่องจากปริมาณรังสีต่ำไปจนไม่สามารถควบคุมโรคได้ การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอนที่มีความแม่นยำสูง สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและไม่ต้องลดปริมาณรังสี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีโอกาสหายจากโรคมากขึ้น
"อนุภาคโปรตอนนั้นเล็กมาก สามารถทะลุหาก้อนมะเร็ง ทำลายได้เฉพาะที่ อวัยวะที่ทะลุไปแทบจะไม่มีผลข้างเคียงของรังสี การใช้อนุภาคโปรตอนความเร็วสูง จะช่วยให้ตรงจุด ทำให้การควบคุมโรคดีขึ้น โอกาสหายขาดมากขึ้นจึงเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในตอนนี้" รศ.นพ.ชลเกียรติ กล่าว
โครงการผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
รศ.นพ.กมล ภานุมาตรัศมี ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องจำนวนมากในหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์ทรวงอก ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศัลยศาสตร์ยูโรระบบทางเดินปัสสาวะ ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยส่วนมากจะเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีแบบเปิด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เพราะไม่สามารถเข้าถึงการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์ทรวงอก ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศัลยศาสตร์ยูโรระบบทางเดินปัสสาวะ ร่วมกันดำเนิน โครงการผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจำนวน 72 ราย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด ในการรักษาโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ให้ผลการรักษาที่ดีมาก เสียเลือดน้อย มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น
เครื่องมือที่ใช้เป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดที่ทันสมัย สามารถเคลื่อนที่ได้อิสระมากกว่าและครบทุกทิศทาง การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เป็นภาพสี่มิติที่มีความละเอียดมีกำลังขยายสูง และระบุจุดได้อย่างชัดเจน สามารถเห็นในสิ่งที่สายตาปกติมองไม่เห็น จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ดีกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
"การผ่าตัดโรคมะเร็งทำได้หลายวิธี แต่การผ่าตัดแบบเดิมจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน ในโรคที่มีความซับซ้อน การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยในการรักษาบางอย่างจะให้ผลที่ดีกว่า การฟื้นตัวเร็วกว่า และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีกว่า" รศ.นพ.กมล กล่าวและว่า ด้วยคุณสมบัติของหุ่นยนต์ช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ลึก ๆ ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ และลดโอกาสที่คนไข้ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น
โครงการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
รศ.นพ.วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล หัวหน้าฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีมากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะกดทับเส้นประสาทจากการเสื่อมของกระดูกสันหลัง และผู้ป่วยสูงอายุมักจะมีโรคประจำตัวมาก รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
การใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบเจาะรูแผลเล็กจึงมีบทบาทเพื่อลดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ ลดการเสียเลือด ลดเวลาการผ่าตัด และลดเวลาพักฟื้นของผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยเอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบเจาะรูแผลเล็กในทุกรูปแบบ อีกทั้งมีเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ Endoscopic surgery, Navigation assisted spine surgery และ Robotic assisted spine surgery
"เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้เข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังมากขึ้น ปีที่แล้วกว่า 800 ราย อายุประมาณ 90-100 ปีเพิ่มขึ้น การผ่าตัดจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เพราะผู้ป่วยมีโรคทางอายุรกรรมร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ร่วมกับทีมแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อให้การผ่าตัดผู้สูงวัยทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย ทำซ้ำได้ โดยผ่าตัดเช้า เย็นกลับบ้านได้ จากเดิมที่มีอัตราการนอนโรงพยาบาล 5-7 วัน" รศ.นพ.วิชาญ กล่าว
โครงการตาดี
รศ.(พิเศษ)พญ.อุษณีย์ เหรียญประยูร หัวหน้าโครงการตาดี ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ฝ่ายจักษุวิทยา มีเป้าประสงค์ที่ต้องการรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการ ที่ต้องรอคอยกระจกตาบริจาคเป็นระยะเวลานาน ประสพปัญหาการขาดแคลนกระจกตาบริจาค การเปิดโครงการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
“โครงการตาดี” ช่วยให้กลุ่มผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้ยากและติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคกระจกคาพิการด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา การรักษาโรคกระจกตาพิการด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเทียม และการผ่าตัดใส่วงแหวนเพื่อปรับรูปร่างกระจกตา ทั้งนี้ ในการผ่าตัดที่ซับซ้อนจะช่วยลดโอกาส การสูญเสียเนื้อเยื่อไป และทำให้กระจกตาอยู่กับผู้ป่วยได้นานขึ้น
การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ช่วยลดระยะการรอคอยกระจกตาบริจาค ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ให้คนไข้ยิ้มได้ มองเห็นคนที่รักในครอบครัว กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างดี
- 398 views