"รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ - รพ.รามาธิบดี - รพ.ศิริราช"  ออกประกาศกรณีรับรักษา 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ย้ำ สิทธิบัตรทองรับบริการได้แต่ต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิเท่านั้น ด้านรพ.รามาธิบดี ระบุ กรณีไม่มีใบส่งตัวจะอนุโลมให้ใช้บริการได้ 1 ครั้ง 

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช  ออกประกาศเกี่ยวกับการมารับบริการที่โรงพยาบาลตาม "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" โดยระบุถึงประเด็นสำคัญว่า ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการประจำที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เท่านั้น 

ทั้งนี้ ประกาศโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป เรียนผู้ใช้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกรุงเทพมหานคร ตามที่สปสช.เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายตามแนวทางการรับส่งต่อผู้ป่วย นั้น

ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ขอแจ้งให้ทราบดังนี้ 1. ขอผู้มีสิทธิเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิก่อน 2. กรณีส่งต่อโรงพยาบาลจะต้องมีเอกสารส่งต่อจากหน่วยปฐมภูมิตามสิทธิเสมอ  และ 3. กรณีที่ไม่มีเอกสารส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิตามสิทธิจะอนุโลมให้ใช้บริการได้ 1 ครั้ง 

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีจะส่งกลับหน่วยบริการปฐมภูมิดูแลต่อเมื่ออาการคงที่แล้ว 

***หากมีข้อสงสัยสอบถามหน่วยสิทธิประโยชน์ผู้รับบริการโทร 02-200-4016  02-2011-1362   จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

 

สำหรับประกาศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ เป็นหน่วยบริการตติยภูมิ การมารับบริการต้องใช้หนังสือส่งตัวและรับส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิและสถานพยาบาลตามสิทธิ

โดยหน่วยบริการที่สามารถเข้ารับบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ได้แก่ หน่วยบริการปฐมภูมิ ของโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลชุมชน คลินิกชุมชนอบอาน และหน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมในระบบบัตรทอง 

ทั้งนี้หากมีข้อซักถาม โทรสายด่วน สปสช. 1330 

สำหรับประกาศโรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า  สืบเนื่องจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งประกาศโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ 15 พ.ค. 2567 นโยบายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช. ) ได้ทุกที่ ร่วมกับนโยบายเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย  ซึ่งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของบริการปฐมภูมิ และลดความแออัดของโรงพยาบาล

ดังนั้น เพื่อให้ผู้มารับบริการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นไปด้วยความเรียบร้อย การมารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช ผู้ป่วยต้องมีเอกสารส่งตัวจากหน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เท่านั้น ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ตามดุลยพินิจของแพทย์