วันนี้ (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายณัฐภาณุ นพคุณ รอง อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2565 ได้แก่
1. นางสาวนภสิริ พุทธันบุตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นายประณัยเดช เฮงสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายปิยวัฒน์ คันธโกวิท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. นายศรุต เชาวะวณิช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
5. นายเสฏฐนันท์ จารุเกษมกิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ทั้งสิ้น 13 คน จากสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ 7 แห่ง โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 คน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณาคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 31ตุลาคม พ.ศ. 2565
....................................
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพแพทย์ให้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
นางสาวนภสิริ พุทธันบุตร เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจเรื่อง การย้อนอายุทางชีวภาพของเซลล์ประสาทฮิปโปแคมปัสโดยกระบวนการ Partial Reprogramming เพื่อรักษาภาวะสมองเสื่อมอันเนื่องมาจากการแก่ชรา
ในปัจจุบันมีผู้สูงอายุกว่าสามร้อยล้านคนทั่วโลกที่ได้รับความยากลำบากทั้งทางกายและจิตใจจากภาวะสมองเสื่อมอันเนื่องมาจากการแก่ชรา การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเห็นผลไม่ชัดเจนและไม่สามารถเปลี่ยนการดำเนินโรคได้มากนัก งานวิจัยนี้นำเสนอกระบวนการ Partial Reprogramming ว่ามีศักยภาพในการชะลอหรือแม้กระทั่งย้อนกลับกระบวนการแก่ชราได้ โดยกระบวนการ Partial Reprogramming เป็นวิธีการใหม่ที่สามารถย้อนอายุทางชีวภาพของเซลล์ได้และมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่ำ จึงเป็นเทคนิคที่มีศักยภาพในการรักษาภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติรวมทั้งโรคสมองเสื่อมอื่นๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเทคนิคนี้ในเซลล์ประสาทยังมีจำนวนน้อย โครงการนี้มุ่งทดสอบประสิทธิภาพในการย้อนอายุทางชีวภาพเซลล์ประสาทส่วนความจำในฮิปโปแคมปัสของมนุษย์ ผลการทดลองจะเป็นรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาวิธีการรักษา รวมทั้งเปิดประตูบานใหม่ให้กับโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก่ชราด้วย
โดย นางสาวนภสิริ พุทธันบุตร มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ ปี 2565 ประธานกรรมการนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6
ปี 2564 อุปนายกฝ่ายวิชาการ สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช (สพศ.), รองประธานงานขอรับบริจาคเนื่องในวันมหิดล 2564, ประธานโครงการเสนอชื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าชิงรางวัล Aspire to Excellence Award สาขา Student Engagement และประธานโครงการแนะแนวจบแล้วไปไหนดี
ปี 2563 ประธานโครงการค่ายหมออาสาพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 10, รองอุปนายกฝ่ายวิชาการ สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช (สพศ.), หัวหน้ากลุ่มเดินสายออกขอรับบริจาคเนื่องในวันมหิดล และได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนเข้าร่วมโครงการ Eisai Global Mobility Program 2021 ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง Eisai Co. กับมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในด้านวิศวกรรม การแพทย์ และบริหารธุรกิจ จากประเทศไทย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง
ปี 2562 ผู้แทนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาทางสรีรวิทยา [17th
Inter-Medical School Physiology Quiz (IMSPQ) 2019] ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับสอง, ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการแข่งขัน Global Healthtech Hackathon Challenge 2019 ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ Royal Academy of Engineering
ประเทศอังกฤษ
ปี 2561 หัวหน้าฝ่ายประสานงานระหว่างคณะ ในงานพระราชทานเพลิงอาจารย์ใหญ่, หัวหน้าฝ่าย Advisor Moderator งาน Siriraj International Medical Microbiology, Parasitology and Immunology Competition (SIMPIC) ประจำปี 2019 และกรรมการนักศึกษาชั้นปี 2 ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ปี 2560 ประธานฝ่ายศิลป์ คณะกรรมการนักศึกษาชั้นปี 1 และอาสาสมัครผู้แทนนักศึกษารับโทรศัพท์เนื่องในวันมหิดล
ปี 2559 ได้รับรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 15 [15th Thailand Physics Olympiad (TPhO)] โดยได้คะแนนรวมสูงสุดเป็นลำดับ 4 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ประเทศไทยระดับชาติ (Thailand Young Physicists’ Tournament (TYPT) 2016)
นายประณัยเดช เฮงสวัสดิ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง โดยใช้ไวรัสสลายมะเร็ง (Oncolytic Virus) เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจุลภาค และทำลายมะเร็งท่อน้ำดี
แก่นความคิดหลักของงานวิจัยคือ การพัฒนาไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับเซลล์ร่างกายปกติ ให้สามารถเข้าไปติดเชื้อและทำลายเซลล์มะเร็งที่มีลักษณะต่างจากเซลล์ปกติได้ นอกจากนั้นยังพัฒนาให้ไวรัสกระตุ้นกระบวนการอักเสบในสภาพแวดล้อมจุลภาคของมะเร็ง เพื่อให้เม็ดเลือดขาวสามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อีกทางหนึ่ง นายประณัยเดชมีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยในระดับหลอดทดลอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางเลือกการรักษาที่ทันสมัยสำหรับผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย
โดย นายประณัยเดช เฮงสวัสดิ์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปี 2565 ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบ Poster presentation เรื่อง Enhance T-lymphocyte Function by Activated with Self-differentiated Dendritic Cells Redirected to NY-ESO-1 for Multiple Myeloma Treatment ในงานประชุม European School of Hematology 6th Translational Research Conference: Multiple Myeloma ณ ประเทศฝรั่งเศส และได้รับรางวัลทุนการศึกษาจากการแข่งขัน Siriraj Medical Student Research Awards Scholarship
ปี 2564 ร่วมวิจัยและตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง Economic burden of non-alcoholic steatohepatitis with significant fibrosis in Thailand ในวารสาร BMC Gastroenterology และเป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Siriraj International Medical Microbiology, Parasitology, and Immunology Competition (SIMPIC) ครั้งที่ 10
ปี 2563 จบการศึกษาปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และร่วมวิจัยในโครงการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการบริการทางการแพทย์ เพื่อกำหนดรายการชุดสิทธิประโยชน์หลักและชุดสิทธิประโยชน์เสริม ในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ด้านอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทางการแพทย์เรื่อง สายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดโคโรนารีชนิดเคลือบยาต้านการตีบซ้ำ
ปี 2562 รองประธานคณะกรรมการโครงการ SIMPIC ครั้งที่ 9 ฝ่ายกิจการภายนอก
ปี 2561 รองประธานคณะกรรมการโครงการ SIMPIC ครั้งที่ 8 ฝ่ายกิจการภายใน
ปี 2560 ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วม Asian Science Camp 2017 ณ ประเทศมาเลเซีย
ปี 2559 รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การแข่งขันเศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 8 ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายปิยวัฒน์ คันธโกวิท เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในเรื่อง การประยุกต์ใช้เทคนิคแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) เพื่อสร้างแบบแผนในการป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังในคนไทย
โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขของโลกและประเทศไทย ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไตเรื้อรังให้หายขาด การพัฒนาแบบแผนในการป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งสามารถพัฒนาได้โดยการนำข้อมูลการเกิดโรคไตเรื้อรังของประชากรไทยในอดีตมาประมวลผลด้วยเทคนิคแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) เพื่อทำนายโอกาสในการเกิดโรคไตเรื้อรังของประชากรไทยในปัจจุบัน และจัดสรรทรัพยากรในการป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง โดยคาดหวังว่าแบบแผนที่พัฒนาขึ้นจะทำให้การป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังในคนไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนลดการใช้ทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเจ็บป่วยที่ลดลงและสุขภาพของคนไทยที่ดียิ่งขึ้น
โดย นายปิยวัฒน์ คันธโกวิท มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปี 2565 หัวหน้านิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ประจำ Clinical rotation และคณะอนุกรรมการสนับสนุนการบริหารหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต, ผู้แทนอาสาสมัครโครงการกล่องรอดตายเพื่อนำเสนอผลงานแก่คณะวิจัยจาก Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health, อาสาสมัครฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย, วิทยากรรับเชิญในงาน MDCU Roadshow, ค่ายอยากเป็นหมอ, และชมรมวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2564 ได้รับรางวัลนิสิตแพทย์ขวัญใจยูนิต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2563 ได้รับรางวัลขวัญใจนิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 4 “ทุนศาสตราจารย์นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ และคุณหญิง” ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และสมาชิกโครงการเครือข่ายวิจัย Thailand- P-DOPPS สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ปี 2562 ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตแพทย์ในโครงการเพชรชมพู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอล อาทิ CU Freshy Game, 2 Syringes Games
ปี 2561 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการฝึกซ้อมฟุตบอลกับสโมสรจามจุรี ยูไนเต็ด ชุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2560 เป็นกัปตันสโมสรให้กับทีมฟุตบอลคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2557 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 13 และเกียรติบัตรผู้ทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ปี 2556 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 12 และรางวัลนักเรียนดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์รางวัลการแข่งขันชนะเลิศระดับภาคและระดับประเทศ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
นายศรุต เชาวะวณิช เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจเรื่อง การประเมินผลตามแนวคิดสัจนิยมเพื่อศึกษาวิถีทางอันเป็นสาเหตุให้เกิดผลลัพธ์ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ เพื่อพัฒนาการประสานงานการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย
ถึงแม้ว่าพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทยจะมีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่ดีแล้ว แต่ยังมีปัญหาในการขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากงานวิจัยพบว่าการประสานงานเป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการประสานงานการดูแลแบบประคับคองอาจแก้ปัญหานี้ได้ นายศรุตจึงมีความสนใจที่จะสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบดังกล่าว ผ่านการศึกษาระบบ Electronic Palliative Care Coordination Systems ของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการพัฒนามามากกว่า 10 ปี ด้วยวิธีประเมินผลตามแนวคิดสัจนิยม (Realist Evaluation) เพื่อศึกษากลไกการทำงานของระบบภายใต้บริบทต่างๆ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยหวังว่าข้อมูลจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์จะช่วยในการพัฒนาระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มคุณค่าของการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวในระยะประคับประคองทั่วประเทศต่อไป
โดย นายศรุต เชาวะวณิช มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปี 2565 ได้รับทุน Dean’s Research Awards เพื่อนำเสนอ Oral presentation หัวข้อ “Against the bureaucracy barrier: An attempt to reform the way medical student organization work” ในงาน Association of Medical Education in Europe Conference 2022 ณ เมือง
ลียง ประเทศฝรั่งเศส
ปี 2563 รองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กร สภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดี และนำเสนอ Oral presentation หัวข้อ “What makes a good PBL facilitator in Thai student’s perception?” ในงานมหกรรมคุณภาพการศึกษา เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาพญาไท ครั้งที่ 3
ปี 2562 ประธานคณะกรรมการนักศึกษาชั้นปีที่ 3, ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานชมรมวิจัยรามาธิบดี และเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวิจัยหัวข้อ “Role of apolipoprotein D in the demyelination and remyelination processes: Implication in multiple sclerosis” ณ University of Oviedo เมืองโอเบียโด ประเทศสเปน
ปี 2561 ได้รับทุน Dean’s Research Novice Awards เพื่อทำวิจัยในหัวข้อ “Thai Preclinical Medical Students’ Perspective on Facilitator’s Characteristics that Contribute to Successful Problem-based Learning”
ปี 2559 ผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมประชุม ASEAN Children’s Forum ครั้งที่ 4 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และได้รับรางวัล Student of the Year ของโรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ
เนื่องด้วยภาวะซึมเศร้าเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เร่งอุบัติการณ์ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีการเกิดซ้ำของภาวะซึมเศร้าที่สูง อันเป็นผลมาจากพยาธิสภาพที่คลุมเครือและการรักษาที่ไม่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละราย ในปัจจุบันนิวโรเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อศึกษาทำความเข้าใจสมองมนุษย์ ทำให้แนวทางการวิเคราะห์สมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากำลังเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ โดยแนวคิดการใช้แบบแผนเครือข่ายทางสมอง (Connectomic Fingerprints) มาใช้กับผู้ป่วยจิตเวช ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย การพัฒนาองค์ความรู้ด้านนิวโรเทคโนโลยีนี้ จึงมีความสำคัญไม่เพียงแต่อธิบายกลไกของอารมณ์ในสมองมนุษย์ แต่ยังสามารถพัฒนาการรักษาแบบจำเพาะต่อผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น และเป็นอีกก้าวหนึ่ง สู่ยุคสมัยของการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ในกลุ่มโรคจิตเวชและประสาทวิทยาของประเทศไทย
โดย นายเสฏฐนันท์ จารุเกษมกิจ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
ปี 2565 ผู้ช่วยวิจัยศูนย์วิจัย Cognitive Clinical & Computational Neuroscience (CCCN) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ได้นำเสนอผลงานวิจัย “Alpha-bumps as a potential neuromarker for screening mild cognitive impairment” ณ งานประชุมวิชาการ Neuroscience 2022 by Society of Neuroscience (SfN) เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับรางวัล Dean’s Research Award จากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้กระบวนการคิดเชิงระบบเพื่อทำความเข้าใจปัญหาการสร้างความอับอายในโรงเรียนแพทย์” ในวารสาร Medical Teacher วารสารนานาชาติชั้นนำ (Q1) ด้านแพทยศาสตร์ศึกษา
ปี 2564-2565 ประธานสภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ซึ่งเป็นผู้นำในการผลักดันการมีส่วนร่วมของนักศึกษา และได้รับรางวัล ASPIRE to Exellence Award in Student Engagement by the International Association for Health Professions Education (AMEE) ณ งานประชุมวิชาการ AMEE 2022 เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส
ปี 2555-2556 ได้รับคัดเลือก เข้าร่วมโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน “หลักสูตร 9 วันที่ฉันตื่น” รุ่น 1 และ รุ่น 2 ณ มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
ปี 2554 นักเรียนรุ่น 1 โครงการฉันทศึกษา โดย สถาปนิก ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยร่วมออกแบบปฏิทิน “พ่อ” ออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยเสด็จพระราชกุศล
- 491 views