ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบหลักการ-กรอบเวลาการจัดทำ “แผนปฏิบัติราชการฯ สปสช.ฉบับที่ 5 ระยะ 5 ปี มุ่งสร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค คุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ตอบสนองความเร่งด่วนด้านสุขภาพ คุ้มครองการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ-เสมอภาค เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนบัตรทองยุคหลังโควิด-19 เน้นความรวดเร็ว-ยืดหยุ่น

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบหลักการและกรอบเวลาการจัดทำ “แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) ระยะ 5 ปี พ.ศ.2566-2570” พร้อมมอบคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำ โดยเน้นการมีส่วนร่วมด้วยการระดมสมอง และรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน

สำหรับแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ฉบับที่ 5 จะมีหลักการสำคัญ 5 ด้าน คือ 1. เพิ่มความเข้มแข็งการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจและเจตนารมณ์ของกฎหมาย มุ่งเน้นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โรคที่สำคัญหรือเป็นปัญหาสุขภาพ โรคที่ส่งผลให้เกิดภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย โดยเฉพาะการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางต่างๆ 2. สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ตอบสนองนโยบาย/ความเร่งด่วนด้านสุขภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง และเสมอภาค

3. สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDGs 4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในยุคหลังโควิด-19 (Post-COVID) จัดระบบบริหารจัดการเชิงรุกให้บรรลุเป้าหมาย ตอบสนองวิถีชีวิตปกติใหม่ (New normal) เน้นความรวดเร็ว (Speed) และความยืดหยุ่นปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤติต่างๆ ได้ (Resilience) 5. มุ่งสร้างดุลยภาพการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์ทุกภาคส่วน 6. เพิ่มศักยภาพสู่การเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง สร้างความเป็นมืออาชีพของบุคลากร นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (New / Digital technology) เข้ามาใช้บริหารจัดการและทำงานอย่างเต็มที ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นและขับเคลื่อนธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของ สปสช. มีแผนหลักเป็นกรอบในการดำเนินงานทั้งสิ้น 4 ระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1 เส้นทางเดิน (roadmap) สู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2548-2550 และระยะที่ 2-4 คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2551-2554, พ.ศ. 2555-2559 และ พ.ศ.2560-2564 ก่อนปรับชื่อเป็น “แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในภายหลังตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2562

นพ.จเด็จ กล่าวว่า แผนหลักแต่ละระยะมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ตามพัฒนาการ สถานการณ์ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุ ดังนั้นเพื่อให้มีแผนปฏิบัติราชการฯ เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบัตรทองอย่างต่อเนื่อง สปสช.จึงได้เตรียมจัดทำแผนปฏิบัติราชการฯ ระยะ 5 ปี เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ด้าน นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการจัดทำร่างแผนปฏิบัติราชการฯ จะมีกระบวนการหารือ รับฟัง รวบรวมประเด็น และจัดทำแผน ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2564 ไปจนถึงเดือน ส.ค. 2565 โดยคาดว่าจะสามารถยกร่างแผนฯ ฉบับแรกได้ในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2565 ก่อนที่จะมีการรับข้อเสนอและปรับปรุงแก้ไข และพร้อมประกาศใช้แผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ฉบับที่ 5 ได้ในเดือน ส.ค. 2565

“กระบวนการจัดทำจะเน้นการมีส่วนร่วม ด้วยการระดมสมองและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งภายนอกและภายในองค์กร สรุปประเด็นยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของข้อมูลและความเป็นไปได้ โดยที่บอร์ด สปสช. จะพิจารณาและอนุมัติให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้ เป็นแผนหลักในการนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี การกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และงบประมาณ รวมทั้งเป็นแนวทางดำเนินงาน กำกับติดตามผล ทบทวน และพัฒนาต่อยอดต่อไป” นางวราภรณ์ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org